EDU Research & ESG
สสว.หนุนBDSยกมาตรฐานเอสเอ็มอีไทย คาดปี66สร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่ม3พันล.
กรุงเทพฯ-สสว. เผย ความสำเร็จโครงการ BDS สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าทำโครงการต่อเนื่องในปี 68 โดยจะเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจบริการเพิ่มขึ้นทั้งมาตรฐาน และคุณภาพ ให้สอดคล้องกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ในเรื่องมาตรฐานสินค้าและบริการ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงธุรกิจ และการเพิ่มพูนศักยภาพบุคลากรในองค์กรธุรกิจ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการแข่งขันภายในประเทศ และเวทีโลก ดังนั้น สสว. จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ Business Development Service หรือ BDS หรือที่รู้จักันในนาม “SME ปัง ตังค์ได้คืน” ขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการที่ได้รับการอนุมัติ สสว. จะให้เงินอุดหนุนปรับปรุงกิจการใน 4 ด้าน ที่สำคัญ ได้แก่
1. ด้านมาตรฐานสินค้าและบริการ เช่น การเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานเพื่อการขึ้นทะเบียน ใบรับรอง การประเมินสถานที่ เช่น มาตรฐาน อย., มผช., ISO, GMP, HACCP, Q Mark, มาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก และมาตรฐานอื่นๆ ที่ช่วยสร้างความเชื่อถือหรือเพิ่มมูลค่าให้กับ SME เช่น การตรวจวิเคราะห์ประเมินต่าง ๆ สอบเทียบเครื่องมือทุกประเภท การขอมาตรฐาน ใบอนุญาต รวมถึงการต่ออายุ เช่น ใบอนุญาต อย. GMP ISO รวมทั้งการใช้บริการกับโรงงานต้นแบบ หรือ Prototype Plant หรือที่มีลักษณะเดียวกัน
2. ด้านการพัฒนาช่องทางการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การเจรจาการค้าหรือจับคู่ธุรกิจ การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการค้าด้วยระบบ Online ผ่าน Platform ที่มีชื่อเสียง การส่งเสริมการจัดทำแผนหรือกลยุทธ์ในการขยายสินค้าและบริการ การสร้างการรับรู้แบรนด์ การส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนหรือคู่ค้าในต่างประเทศ การส่งเสริมหรือผลักดันเข้าสู่การเป็นเครือข่ายสินค้า และหรือบริการ กับธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น
3. ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ทุกประเภท บริการพัฒนาสินค้าและบริการกลุ่มประเภท BCG หรือด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงบริการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า และการออกแบบสื่อต่าง ๆ บริการในการพัฒนาหรือการนำระบบ AI, ERP หรือระบบอื่นๆ มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ และธุรกิจ บริการด้านบัญชีการเงิน เช่น ระบบบัญชี การจัดทำบัญชี เป็นต้น
4. ด้านการพัฒนาและบริหารธุรกิจ เช่น บริการด้านการอบรมเชิงลึกเพื่อให้ได้รับใบรับรองหรือใบประกาศนียบัตร การอบรมแบบ In-House Training บริการการ Implement การตรวจสอบ ติดตาม ประเมิน การใช้เครื่องมือ เพื่อวัดความพร้อมหรือวัดความสำเร็จ หรือการอบรมให้แก่บุคลากรทางธุรกิจ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับสมรรถนะพนักงานในสถาน ประกอบการ ด้านบัญชีการเงิน การบริหารจัดการธุรกิจดิจิทัล AI ระบบ ERP และการอบรมตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนประมาณ 200 หน่วยงาน ที่เข้ามาขึ้นทะเบียน และเข้ามาให้บริการแล้วประมาณ 90 กว่าหน่วยงาน ครอบคลุมกว่า 400 บริการ
โดยผลการดำเนินโครงการ BDS ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2566-2567) ได้รับวงเงินจากภาครัฐ และกองทุน สสว. เป็นจำนวน 175 ล้านบาท ในขณะนี้มีผู้ประกอบการมาใช้บริการประมาณ 1,800 ราย และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะมีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ 3,000 ล้านบาท จากการปรับปรุงธุรกิจในด้านต่าง ๆ
“โครงการ BDS ถือได้ว่าตอบโจทย์เอสเอ็มอีได้มากที่สุด เพราะในอดีตโครงการที่ออกมาจะเจาะเพียงบางกลุ่ม เช่น โครงการปรับปรุงเรื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งอาจจะมีเพียงบางรายที่ได้ประโยชย์ แต่โครงการนี้ เอสเอ็มอี สามารถเลือกปรับปรุงธุรกิจได้ทุกด้านตามที่ต้องการ จึงได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก” นายวีระพงศ์กล่าว
สำหรับในปี 2568 จะดำเนินโครงการ BDS อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะได้รับงบประมาณจากภาครัฐมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยแนวทางหลัก ๆ จะปรับปรุงระบบ วันไอดี ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะลดขั้นตอนต่าง ๆ ลงให้ได้มากที่สุด เช่น ให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ BDS ไม่ต้องแนบเอกสาร โดย สสว. จะดึงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะทำให้รู้ข้อมูลของเอสเอ็มอีแต่ละรายอย่างละเอียดโดยไม่ต้องขอเอกสารจากผู้มาใช้บริการ
นอกจากนี้ จะต่อยอดการยกระดับมาตรฐาน และปรับปรุงกิจการในด้านสิ่งแวดล้อม และการลดภาวะเรือนกระจกให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 10 บริการ เช่น เรื่องคาร์บอนฟุตปริ้นท์ การตรวจประเมินคาร์บอนเครดิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ค่าบริการสูงมาก สสว. จึงได้คุยกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ที่ทำหน้าที่ตรวจประเมิน ให้นำบริษัทที่ตรวจสอบด้านกรีนให้เข้ามาขึ้นทะเบียนให้บริการเพิ่มขึ้น
รวมทั้งจะเพิ่มหน่วยบริการตรวจสอบมาตรฐาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพในด้านธุรกิจบริการเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มบริการเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มฮาลาล กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มธนาคาร เพื่อช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจต่าง ๆ กลุ่มส่งออก ตลอดจนกลุ่มบริการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยจะรวบรวมหน่วยตรวจสอบ ให้การรับรอง ออกมาตรฐาน หรือพัฒนาธุรกิจบริการต่าง ๆ เข้ามาให้เอสเอ็มอีเลือกใช้บริการมากขึ้น ซึ่ง สสว. จะเข้าไปหาสมาคม หรือหน่วยงานที่ดูแลกำกับธุรกิจบริการในแต่ละด้านที่ BDS ยังไม่มีให้เข้ามาร่วมคัดเลือกธุรกิจตรวจสอบ ให้การรับรอง หรือออกมาตรฐานที่อยู่ในเครือข่ายให้เข้ามาขึ้นบัญชีในระบบ BDS และดึงเอสเอ็มอีด้านบริการเหล่านี้ให้เข้ามายกระดับธุรกิจในทุกด้าน
สำหรับ สถิติการเข้ารับบริการ BDS ส่วนใหญ่จะเข้ามาขออุดหนุนในเรื่องการตลาดเป็นอันดับ 1 ส่วนใหญ่เป็นการออกงานแสดงสินค้า รองลงมาเป็นงานมาตรฐาน เช่น ศูนย์ตรวจสอบรับรองฉลากโภชนาการ การเข้าสู่มาตรฐานไอเอสโอ และการต่ออายุมาตรฐาน ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาของบสนับสนุนของ สสว. ได้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กถึงจนาดกลาง
นายวีระพงศ์กล่าวต่อไปว่า “ตอนนี้ผู้ประกอบการเริ่มเข้าใจโครงการ BDS มากขึ้น แม้ว่ายังไม่ได้ลงพื้นที่ต่างจังหวัดอธิบายในรายละเอียด แต่ก็มีลูกค้าเข้ามาทุกวันมาเลือกบริการ เพราะปากต่อปากจากลูกค้าเดิม ซึ่งหลังจากนี้จะออกไปโปรโมทโครงการ BDS ในภูมิภาคต่าง ๆ ให้เข้าถึงบริการนี้มากขึ้น นอกจากนี้ จะเก็บข้อมูลความพึ่งพอใจ ข้อเสนอแนะของเอสเอ็มอีที่เข้ามาใช้บริการ และนำมาปรับปรุงแก้ไข ให้ระบบ BDS ออกแบบให้ตรงกับความต้องการของเอสเอ็มอีมากขึ้นในทุกด้าน”
ทั้งนี้ จากการที่มีเอสเอ็มอีเข้ามาใช้บริการ BDS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เอสเอ็มอีไทยปรับตัวเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก และยังสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับธุรกิจต่างชาติที่จะเข้ามาแย่งชิงตลาดได้มากขึ้น เพราะในอนาคตกำแพงภาษีกีดกันสินค้าจากต่างชาติจะลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นหาก เอสเอ็มอีไทย มีมาตรฐานที่เข้มแข็ง สินค้าและบริการมีมาตรฐานสูง ก็จะช่วยป้องกันสินค้าจากต่างชาติเข้ามายึดตลาดของไทยได้