In News
ตีทะเบียนGIทุกเรียนหมอนทองเขาบรรทัด จ.ตราดรัฐฯเพิ่มมูลค้าสินค้าท้องถิ่นไทย
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาล เผยรัฐบาลมุ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นไทย ขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จังหวัดตราดเพื่อความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า ยกระดับรายได้ชุมชน
วันนี้ (2 พฤษภาคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพสินค้า สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งขับเคลื่อนเพิ่มคุณค่าสินค้าด้วยพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาไทย โดยได้ต่อยอดประกาศขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสินค้า (Geographical Indication: GI) รายการที่ 3 ของจังหวัดตราด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ประกาศขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสินค้า GI รายการที่ 3 ของจังหวัดตราด ต่อจากการประกาศขึ้นทะเบียน GI สับปะรดตราดสีทอง และทุเรียนชะนีเกาะช้าง ของจังหวัดตราดก่อนหน้านี้ ซึ่งทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัดเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดตราด ปลูกในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ณ บริเวณแนวเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเกษตรกรในจังหวัดตราดสามารถเก็บทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัดได้ก่อนพื้นที่อื่น เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในบริเวณแนวเทือกเขาบรรทัดที่กระตุ้นให้ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัดออกดอกได้เร็วขึ้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI สามารถนำตราสัญลักษณ์ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด ยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าระดับพรีเมียม (Premium) เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และจำหน่ายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น ตลอดจนสามารถรับสิทธิพิเศษและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ การคัดเลือกเข้าร่วมงานแสดงสินค้า GI Fest และ GI Market เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าสินค้ามีมาตรฐาน มีคุณภาพ และมาจากแหล่งผลิตท้องถิ่นที่แท้จริง
“นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าการขึ้นทะเบียนสินค้า GI จะเกิดประโยชน์แก่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรบริเวณท้องถิ่น จากสภาพอากาศ จากการเพาะปลูกดูแล รวมทั้งเพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะส่งผลทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับรายได้ให้แก่ชุมชน ทั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคในแง่ รับประกันคุณภาพสินค้า ทำให้สินค้าไทยเป็นที่เชื่อมั่นของตลาดโลก” นายชัย กล่าว