In News

ครม.อนุมัติปธ.ความร่วมมือเอเชียของไทย เป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีเอเชียปี68



เพชรบุรี-ครม.เห็นชอบ การเป็นประธานกรอบความร่วมมือเอเชียของประเทศไทยและการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชียในปี 2568

วันนี้ (14 พฤษภาคม 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ ​1. เห็นชอบการเสนอตัวเป็นประธานการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) วาระปี 2567 – 2568 ของประเทศไทย เพื่อขอรับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก ACD ต่อไป​ 2. เห็นชอบในหลักการการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในช่วงที่ประเทศไทยเป็นประธาน ACD ซึ่งรวมถึง (1) การประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (2) การประชุมระดับรัฐมนตรีคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (3) การประชุมระดับรัฐมนตรี และ (4) การประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ไทยจะเสนอตัวเป็นประธาน ACD ให้แก่ประเทศสมาชิกพิจารณาในการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 19 ที่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (อิหร่าน) จะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 11 – 12 มิถุนายน 2567 และจะมีการส่งมอบตำแหน่งประธาน ACD ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรีในช่วงเดือนกันยายน 2567)

นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญดังกล่าว มีดังนี้
​​1. กรอบ ACD จัดตั้งขึ้นโดยข้อริเริ่มของประเทศไทยเมื่อปี 2545 เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายของภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในเอเชีย โดยปัจจุบันกรอบ ACD มีสมาชิกรวม 35 ประเทศ จากอนุภูมิภาคทั้งหมดของเอเชีย1 ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทนำในกรอบ ACD ในฐานะผู้ริเริ่มจัดตั้งกรอบ ACD และเป็นประเทศผู้ประสานงาน ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งประธาน ACD และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 2 ครั้ง
​​2. ปัจจุบันอิหร่านดำรงตำแหน่งประธาน ACD วาระปี 2566 – 2567 และยังไม่มีประเทศสมาชิกใดแสดงความประสงค์ดำรงตำแหน่งประธาน ACD ต่อจากอิหร่าน และโดยที่กรอบ ACD ไม่มีข้อกำหนดหรือระเบียบปฏิบัติในการดำรงตำแหน่งประธาน ACD ดังนั้นการดำรงตำแหน่งประธาน ACD จึงเป็นไปตามความสมัครใจของประเทศสมาชิก กต. จึงเสนอให้ประเทศไทยเป็นประธาน ACD และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชียในปี 2568 และประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงการเป็นประธาน ACD ของประเทศไทย

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับ มีดังนี้
​​1. การเป็นประธาน ACD จะช่วยส่งเสริมบทบาทนำของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือในภูมิภาค สะท้อนถึงความพร้อมของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเวทีดังกล่าวที่ครอบคลุมรัฐสมาชิกในเอเชียมากที่สุด และสอดคล้องกับเป้าหมายด้านการต่างประเทศของรัฐบาลที่มุ่งสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยและส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทย

​​2. สามารถใช้โอกาสจากเวที ACD ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีของไทยกับประเทศสมาชิก ACD ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างเครือข่ายและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนและขยายความร่วมมือในระดับรัฐบาลระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น