Authority & Harm
เครือข่ายเมืองน้ำดำบุกร้องปธ.กมธ.ปปช. 'ชูศักดิ์'เชือดก่อสร้าง7ชั่วโคตรกาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์-เครือข่ายภาคประชาสังคม ปปท.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ และชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน ยื่นหนังสือร้อง “ชูศักดิ์” ป.กมธ.ปปช.สภาฯ ตรวจสอบงานก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ระบุเป็นภัยต่อความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ พร้อมส่งที่ปรึกษาเก็บข้อมูลเดินหน้านำเข้าพิจารณาในกรรมาธิการเร็วๆนี้
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ภายหลังรองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (ป.กมธ.ปปช.สภาฯ) ประชุมปัญหาการตัดไม้พะยูง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางจังหวัด นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ และนายดำรงศักดิ์ สง่าวงศ์ ข้าราชการบำนาญ เป็นตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม งบประมาณ 545 ล้านบาท 8 โครงการใหญ่ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ต่อรองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ.ปปช.สภาฯ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบปัญหาการก่อสร้าง ที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ
นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนต้องการให้ ป.กมธ.ปปช.สภาฯ ได้ตั้งองค์คณะเข้ามาตรวจสอบโครงการนี้ ถึงแม้ว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง จะทำการยกเลิกสัญญากับ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ ไปแล้ว แต่ผลการดำเนินการตามระเบียบพัสดุปี 2560 บุคคลที่จะทำการยกเลิกสัญญา และมีผลในทางปกครอง ก็คือ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่เอกสารการยกเลิกจะต้องถูกส่งต่อมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และยังมีกระบวนการพิจารณาของกรมบัญชีกลางจนนำไปสู่การยกเลิกทางปกครอง โดยปลัดกระทรวงการคลัง ทำให้ขณะนี้ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ ยังคงสามารถไปทำนิติกรรมต่อหน่วยงานราชการอื่นได้ แม้ในส่วนกรมโยธาฯ จะไม่สามารถเข้าไปประมูลงานได้แล้ว จึงเกรงว่าจะเกิดผลเสียต่อทางราชการที่มองได้ถึงความมั่นคงของประเทศชาติ
“อีกกรณีเป็นเรื่องของความสงบสุขของพี่น้องประชาชน เนื่องจากในบางโครงการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเฉพาะ งานก่อสร้างท่อระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบประมาณ 148 ล้านบาท จะพบว่า ถนน 6 จุดรวมถึงชุมชนกลายสภาพเป็นหลุมอันตราย ที่ผู้รับจ้างทิ้งงานได้ปล่อยเอาไว้และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน จึงเกิดปัญหาเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะได้ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดเสียหายไปแล้วกว่า 7,500 ล้านบาท จึงได้เข้ามายื่นหนังสือเพื่อให้ตรวจสอบปัญหานี้ด้วย”นายชาญยุทธ กล่าวในที่สุด
ด้าน นายดำรงศักดิ์ สง่าวงศ์ ข้าราชการบำนาญ ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ตนเชื่อว่าโครงการนี้มีปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย เกิดขึ้นจากส่วนกลาง เนื่องจากตนได้เริ่มร้องเรียนมาก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 2 ปี ที่เพิ่งจะเห็นผลมีการยกเลิกสัญญา ข้อสังเกตที่ต้องการให้ กมธ.ปปช.สภาฯ เร่งตรวจสอบ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาป้องกันน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ 148 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไป 80 ล้านบาท จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับงานก่อสร้างว่าทำไมถึงสามารถเบิกเงินได้ คณะกรรมการตรวจการจ้าง ใช้เกณฑ์อะไรพิจารณา แล้วรู้หรือไม่ว่า หจก.ทั้ง 2 แห่ง ไม่สามารถทำงานได้ทำไมถึงปล่อยผ่านไป อีกทั้งผลการยกเลิกโครงการก็จะทำให้รัฐจะต้องอุดหนุนภาษีไปยังโครงการที่สร้างไม่เสร็จอีก จึงต้องการให้ ป.กมธ.ปปช. เร่งนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในชั้น กมธ.โดยด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์และเงินภาษีของพี่น้องประชาชน
อย่างไรก็ตามภายหลังรับเอกสารร้องเรียน คณะที่ปรึกษา กมธ.ปปช.สภาฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณถนน ผังเมือง 2 ชุมชนหนองเรือ-หัวคู เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เพียง 200 เมตร คณะที่ปรึกษาฯ พบปัญหาก่อสร้างมีการทิ้งท่อ เศษหิน เศษดิน เกลื่อนถนน โดยเฉพาะบล็อกที่จะใช้เป็นจุดกักน้ำไม่มีป้ายติดเตือนป้องกันอันตรายที่ยังพบความเสื่อมสภาพของงานก่อสร้างอีกด้วย ทั้งนี้ ที่ปรึกษา กมธ.ปปช. จะนำปัญหาที่พบเห็นนี้ไปรายต่อที่ประชุม กมธ.ปปช.สภาฯ เพื่อตรวจสอบหน่วยงานและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และจะกำหนดวันพิจารณาปัญหานี้อย่างเร่งด่วนต่อไป