In News
รัฐฯชวน'เจ้าหนี้-ลูกหนี้'เข้าร่วมแก้ไขหนี้ ใน31พ.ค.นี้/ขู่เจ้าหนี้ดอกโหดให้ระวัง!
กรุงเทพฯ-รัฐบาลเชิญชวนเจ้าหนี้-ลูกหนี้ เข้าร่วมโครงการแก้ไขหนี้ ภายใน 31 พฤษภาคมนี้ หากพ้นกำหนดโดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูง จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
วันนี้ (16 พฤษภาคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินนอกระบบ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนของรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายณรงค์ ศรีระสันต์ ผู้แทนอธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) ร่วมแถลงข่าวเปิดแผนปฏิบัติการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน โดยมีนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมการแถลงข่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลต้องการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งยุทธศาสตร์ใหญ่ของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศคือ ทำอย่างไรที่จะเติมเม็ดเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น จากข้อมูลตามตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จำนวนเงินหนี้นอกระบบมีประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่คณะกรรมการแก้ไขหนี้นอกระบบฯ คาดว่ามีประมาณแสนล้านบาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีคนมาลงทะเบียนเข้าสู่ระบบแก้ไขหนี้นอกระบบ ซึ่งจากตัวเลขการดำเนินการแก้ไขหนี้นอกระบบยังถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ จึงขอความร่วมมือให้ลูกหนี้-เจ้าหนี้ รีบมาลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการแก้ไขหนี้ เพื่อให้การแก้ไขหนี้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด
ด้านนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการไปกว่า 1 แสนราย แต่เชื่อว่ามีอีกมากที่ยังไม่เข้าสู่ระบบทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ จากนี้จะทำให้เจ้าหนี้เข้าสู่กรอบของกฎหมาย ภายใน 31 พ.ค. นี้ ถือเป็นการขีดเส้นตายครั้งสุดท้าย ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความเป็นธรรมกับทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพราะต้องการดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ หากใครไม่ปฏิบัติตามจะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด
นายชาดา ย้ำ เรารอต่อไปไม่ไหวแล้ว ครั้งนี้เป็นโอกาสที่เจ้าหน้าหนี้จะทำมาหากินอย่างถูกกฎหมาย 14 วันที่เหลืออยู่ ขอแนะนำให้เจ้าหนี้ไปแจ้งกับฝ่ายปกครองในจังหวัดของตนเอง หรือตำรวจ ส่วนคนที่ไม่โดนจับ นั่งเป็นเจ้าพ่อเงินกู้อยู่เบื้องหลัง ก็จะต้องเข้าสู่ระบบเช่นกัน หากเพิกเฉยไม่มาแจ้งระวังเจ้าหน้าที่สรรพากรจะไปตรวจสอบความเป็นอยู่และรายได้ทั้งหมด วันนี้ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาด้านนิติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์อย่างยั่งยืน จะไม่มีการกู้หนี้มาใช้หนี้อีกต่อไป ทุกคนจะต้องเข้าสู่ระบบ พร้อมย้ำไปถึงข้าราชการที่เป็นหนี้นอกระบบ ขอให้มีความกล้าหาญที่จะเข้าสู่ระบบ ไม่ใช่รอให้เจ้าหนี้เป็นผู้ออกมาเปิดเผยชื่อ เพราะไม่รู้ว่าจะมีความผิดหรือไม่
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แม้จะมีการเปิดให้ลูกหนี้นอกระบบมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยหนี้ แต่พบว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนยังไม่ใกล้เคียงกับจำนวนลูกหนี้ตัวจริงที่คาดการณ์ไว้ จึงขอย้ำเตือนให้ลูกหนี้มาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบ เพราะต้องไม่ลืมว่าการที่เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคิดดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กำหนดถือว่าผิดกฎหมาย ดอกเบี้ยจะถือเป็นโมฆะ หากเข้าสู่ระบบ เจ้าหน้าที่จะช่วยไกล่เกลี่ย ในส่วนของเจ้าหนี้ก็สามารถมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบแล้วรัฐจะดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับเงินคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม เพราะลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระเงินต้นคืนให้เจ้าหนี้ และยังสามารถดำเนินการปล่อยเงินกู้อย่างถูกกฎหมายให้กับลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ แต่หากเจ้าหนี้ไม่มาลงทะเบียนรัฐบาลจะตีความว่าไม่ประสงค์จะได้เงินคืน ในส่วนของลูกหนี้หากไม่มาลงทะเบียน จะมาบอกว่ารัฐบาลไม่ช่วยไม่ได้
พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องสำคัญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการกวาดล้างอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2566 มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนด รวมทั้งยึดทรัพย์ จึงขอให้ประชาชนเข้ามาสู่ในระบบที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งคดีอาญาและถูกยึดทรัพย์ ในส่วนการคุ้มครองความปลอดภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความยินดีขอให้ไว้วางใจว่าหากเข้ามาสู่กระบวนการแล้วจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ขณะที่การดำเนินคดีระหว่างตำรวจและอัยการปัจจุบันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คดีที่ตำรวจส่งฟ้องไปมีการดำเนินคดีเกือบ 100% ขอให้มั่นใจว่าหากมาเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องแล้วจะไม่ถูกดำเนินคดี และเป็นการช่วยเหลือคนไทยในทางอ้อมด้วย
ด้านนายณรงค์ ศรีระสันต์ ผู้แทนอธิบดีอัยการ เปิดเผยว่า ในส่วนสำนักงานอัยการสูงสุด มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขหนี้นอกระบบคือการอำนวยยุติธรรมทางอาญา รับสำนวนจากตำรวจมาดำเนินคดี โดยมีการสั่งฟ้องในคดีอาญา ในคดีพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กรณีการกู้เงินผ่านระบบออนไลน์ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พระราชบัญญัติการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ความผิดฐานเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ และความผิดฐานอังยี่ซ่องโจรกรณีมีการรวมตัวกัน หรือเจ้าหนี้หมวกกันน็อคที่รวมตัวกันมากกว่า 5 คน ก็อาจโดนความผิดนี้ได้ รวมถึงความผิดข้อหาฉ้อโกง และความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ขอให้เจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย หากมาร้องที่อัยการจะมีการออกหนังสือเชิญมาพบเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าสู่การไกล่เกลี่ย หากหนี้นั้นผิดกฎหมายมีการทำสัญญากู้ฝ่าฝืนกฎหมายจะไม่สามารถฟ้องร้องได้ หรือหากไม่มีการทำสัญญากู้เงิน ต้องมีการเจรจาว่ามีหนี้เหลือเท่าไร หากจ่ายดอกเบี้ยจนทบต้นแล้วเงินต้นทุกอย่างต้องจบ แต่หากยังมีเงินต้นเหลืออยู่สามารถเอาหลักฐานสัญญาการยอมความที่ทำกับฝ่ายปกครอง อัยการ และตำรวจ แต่ในกรณีที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการ และลูกหนี้ได้แจ้งว่าชำระหนี้หมดแล้ว หากเจ้าหนี้ยังไปทวง เท่ากับเป็นการข่มขู่เป็นคดีอาญา ขอให้เจ้าหนี้เข้าสู่กระบวนการ
ขณะเดียวกันหากเจ้าหนี้มาเข้าสู่กระบวนการแล้ว แต่ยังเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีหรือเกินกว่านั้นก็ถือว่าเป็นความผิด หากยังดื้อดึงไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเจรจาหรือลดหนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย จะมีกระบวนการส่งต่อของตำรวจ อัยการ ปกครองให้ดำเนินคดี และส่งเรื่องให้สรรพากรดำเนินการทางด้านภาษี พร้อมตั้งทนายความอาสาเข้าช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้อง จึงขอเตือนเจ้าหนี้ที่ถูกอัยการฟ้องร้องในคดีอาญา ท่านอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนดอกเบี้ยที่จ่ายเกินเงินต้นไป ซึ่งศาลเคยมีการตัดสินให้เจ้าหนี้คืนเงินให้กับลูกหนี้ และตัดสินโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา สำหรับลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ และผู้ใช้แรงงาน ถ้าในวันจันทร์ถึงศุกร์ ไม่สะดวก สำนักงานอัยการสูงสุดได้เปิดบริการถึงวันเสาร์ 08.30 น. - 16.30 น. ให้บริการแก่ผู้ที่ไม่สามารถหยุดงานได้ สามารถใช้บริการสำนักงานอัยการสูงสุดได้ทั่วประเทศ 76 จังหวัด 37 อำเภอ