In Bangkok
กทม.ทำแผนปฏิบัติการป้องกัน-บรรเทา อัคคีภัยในช่วงฤดูหนาว

กรุงเทพฯ-รสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยในช่วงฤดูหนาว
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่องการเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.64 ว่า สภาพภูมิอากาศในฤดูหนาวจะแห้ง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนและเพลิงไหม้หญ้ามากขึ้น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 จึงได้อนุมัติแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอัคคีภัยกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้หน่วยงาน กทม. ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานและเตรียมความพร้อมป้องกันและระงับอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว พร้อมทั้งสั่งการให้ สปภ.เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถดับเพลิง รถบรรทุกน้ำดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องมือเครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์สาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ความรู้การป้องกันอัคคีภัยให้ประชาชนในชุมชน และประสานความร่วมมือกับชุมชน เจ้าของอาคาร สถานประกอบการให้ตรวจตรา เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุอัคคีภัย อีกทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แจ้งให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดินและประชาชนปฏิบัติ โดยขอให้ปรับปรุงไม่ให้ต้นไม้ หรือธัญพืชที่ปลูกไว้ หรือที่ขึ้นเองเหี่ยวแห้ง หรือมีสภาพรกรุงรัง หรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย ในบริเวณที่ดินของตน และงดการเผาซากวัชพืชหลังการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร เพื่อเพาะปลูกใหม่เนื่องจากเป็นการทำลายหน้าดิน และการเผาซากวัชพืชยังทำลายปุ๋ยหมักตามธรรมชาติ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมถึงให้งดการเผาขยะมูลฝอย หญ้า และเศษกระดาษ ทั้งในชุมชนและบริเวณริมถนนสองข้างทาง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนเนื่องจากกลุ่มควันจากการเผาไหม้บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ยานพาหนะ อีกทั้งให้จัดทำรั้วกั้นรอบพื้นที่ของตนเอง เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นนำขยะมาทิ้ง และขอให้กำจัดวัชพืชในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้หญ้าอีกด้วย
ทั้งนี้ กทม.ได้กำชับให้ทุกสำนักงานเขตตรวจสอบปรับปรุงข้อมูลพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ให้กวดขัน จับกุมผู้ที่เผาหญ้าและลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตราอื่น ๆ ซึ่งมีโทษหนักกว่า หากประชาชนพบเหตุเพลิงไหม้บ้าน เพลิงไหม้หญ้า หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง