In News

'จุรินทร์'เปิด'ตลาดกลางพลอยฯจันทบุรี' เผยเป้าปี65ทำอัญมณีให้ได้ 2.3แสนล.



จันทบุรี-'จุรินทร์' เปิดใหญ่ "ตลาดต้องชม ตลาดกลางพลอยนานาชาติ จันทบุรี" บุกตลาดโลก นำรายได้เข้าประเทศ พร้อมเผยเป้าปี 65 ทำอัญมณีให้ได้ 233,711 ล้านบาท ส่วนผลไม้ให้ได้ 191,000 ล้านบาท

ในงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021 - 2022 พร้อมด้วย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอุดม  ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี นายยุคล  ชนะวัฒน์ปัญญา  อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จังหวัดจันทบุรี เขต 3 นายอิทธิพล  จังศิริมงคล  ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดจันทบุรี เขต1 และนายชรัตน์ เนรัญชร ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดจันทบุรี เขต 2 ที่ตลาดกลางพลอย ถนนศรีจันทร์ ตําบลวัดใหม่ อําเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และผู้ประกอบการอัญมณี

นายจุรินทร์ กล่าวว่า รู้สึกอบอุ่นมากที่ได้พบพวกเราที่นี่ ทุกครั้งที่มาได้รับการตอบต้อนรับอย่างดียิ่งไม่เปลี่ยนแปลง แม้สถานการณ์ปัจจุบันหลายท่านพยายามที่จะดูแลตนเอง ทั้งเรื่องโควิด และเศรษฐกิจ ในส่วนของ ฝรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาพยายามกำหนดมาตรการดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศ รวมถึงชาวจันทบุรีด้วย ประเด็นสำคัญจะสร้างสมดุลอย่างไรระหว่างโควิดกับเศรษฐกิจ ต้องไปด้วยกัน ต้องถือว่ารัฐบาลสามารถพาประเทศฝันฝ่ามาได้ในระดับหนึ่งขณะนี้ถือว่าเราเดินมาในทิศทางที่ถูกต้อง โควิดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้แม้ยังไม่หมดไป และเศรษฐกิจเริ่มเดินไปได้อย่างน้อยในความรับผิดชอบของตน แม้เจอพิษโควิดหนักหน่วงแต่ปีที่แล้ว 2564 ทั้งปี แต่การส่งออกขยายตัวสูงมาก ถึง 17.1% ทำเงินเข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท และปี 65 ยังมั่นใจว่าการส่งออกก็ยังทำตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญขณะเดียวกันการค้าชายแดนก็มีความสำคัญจันทบุรีแม้ไม่ได้อยู่ชายแดน แต่ใกล้ชายแดนการค้าชายแดนข้ามไปกัมพูชาก็ช่วยกระจายมาถึงจันทบุรีได้เช่นเดียวกัน ส่วนการค้าใช้แดนปีที่ผ่านมาทำเงินเข้าประเทศได้ถึง 1,010,000 ล้านบาท เป็นบวกถึง 36.4% และจันทบุรีก็เป็นพระเอกในการทำเงินเข้าประเทศจากศักยภาพของพี่น้องชาวจันทบุรี โดยเฉพาะผลไม้ 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ด้วยว่าปีที่แล้ว 2564 ทั้งปีผลไม้ทั้งหมดสามารถทำเงินเข้าประเทศได้ถึง 150,000 ล้านบาท เป็นทุเรียน 110,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่มาจากจันทบุรี ขอขอบคุณเกษตรกร พี่น้องชาวจันทบุรี แต่จันทบุรีไม่ได้มีเพียงผลไม้ยังมีอาชีพสำคัญ คือ พลอย ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ที่ผ่านมาเพราะซบเซาเพราะพิษเศรษฐกิจและโควิด แต่ด้วยนโยบายที่ถูกทิศทางของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ตนมั่นใจว่าจะกระเตื้องขึ้น 

" ผมมาวันนี้เพราะให้สัญญากับพี่น้องไว้ตอนมาเยี่ยมเมื่อปีที่แล้วว่าชุมชนตลาดพลอย ซึ่งประกอบด้วยคนไทยเชื้อสายจีน เวียดนามและคนไทยดั้งเดิม  3 กลุ่ม ร่วมกันพัฒนาศักยภาพจนที่นี่กลายเป็นจุดศูนย์รวมพลอยของโลกแห่งหนึ่ง เราต้องกลับมาฟื้น สิ่งที่จะทำได้ภายในสถานการณ์ปัจจุบันคือทำอย่างไรที่จะจัดอีเวนท์และพัฒนาตลาดตรงนี้ให้เป็นระบบที่มีความชัดเจนโดย 1.ให้มีภูมิทัศน์ที่งดงามเป็นระบบระเบียบ ดูเป็นอินเตอร์มากขึ้น 2.เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาค้าขายเพิ่มเติมขึ้น 3.นำระบบการบริหารจัดการแบบใหม่ที่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ดิจิทัลมาช่วย และ4.สำคัญที่สุดการมาค้าขายพลอยที่นี่มั่นใจได้ เพราะมีสถาบันอัญมณีสังกัดกระทรวงพาณิชย์มีเอกสารรับรองเชื่อมั่นได้ และต่อไปกรมการค้าภายในจะร่วมกับสถาบันอัญมณี พัฒนาเป็นตลาดต้องชมเพราะเรามีตลาดต้องชมเดิมอยู่แล้วขนานกับริมแม่น้ำการเปิดตลาดใหม่เป็นตลาดต้องชมเต็มรูปแบบ มีทั้งพลอยและสินค้าอื่น ขอบคุณชุมชนที่นี่มีความสามัคคีและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี" นายจุรินทร์ กล่าว

รายงานข่าวกระทรวงพาณิชย์ ระบุด้วยว่า ปี 64 การส่งออกผลไม้สด มูลค่า 158,875 ล้านบาทเป็นบวก +52.39% ส่วนผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง 11,597 ล้านบาท ผลไม้แห้ง = 21,049 ล้านบาท  ผลไม้แปรรูป/กระป๋อง  58,638 ล้านบาท การทำงานส่งออกผลไม้รวม = 250,162 ล้านบาท ขยายตัว 39% ส่วนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2564 มูลค่า 194,706.08 ล้านบาท (+29.64%) สินค้าส่งออกสำคัญ คือ เครื่องประดับแท้ อัญมณี โลหะมีค่า ส่วนเป้าปี 2565 คาดการณ์มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับภาพรวม ขยายตัว 20% มูลค่า  233,711 ล้านบาท

จุรินทร์ ระดมทีมจัด "เทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับ 3-7 ก.พ."สร้างจันทบุรีเป็นมหานครแห่งอัญมณี"

 พร้อมด้วย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ นายยุคล  ชนะวัฒน์ปัญญา  อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จังหวัดจันทบุรี เขต 3 นายอิทธิพล  จังศิริมงคล  ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดจันทบุรี เขต1 และนายชรัตน์ เนรัญชร ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดจันทบุรี เขต 2 ที่ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี พร้อมผู้ประกอบการ ผู้ซื้อจากต่างประเทศและผู้ขายในไทย 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021-2022 โดยช่วงเช้าได้มีโอกาสไปเปิดถนนค้าพลอยนานาชาติจันทบุรี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อให้ถนนสายนี้เป็นถนนที่มีความต่อเนื่องจากประวัติศาสตร์การผลิตและการค้าพลอยตั้งแต่อดีต ช่วยต่อยอดให้กลายเป็นถนนที่เป็นตลาดค้าพลอยของโลกที่มีมาตรฐานเป็นสากล และมีความทันสมัยด้วยระบบการบริหารจัดการและเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจะไปเชื่อมกับตลาดต้องชมที่ขนานอยู่ริมแม่น้ำ จะกลายเป็นเส้นทางค้าขายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวและเส้นทางเศรษฐกิจเส้นพิเศษของจันทบุรีที่จะมีความถาวรสืบไป

ซึ่งงานเฉพาะการเทศกาลพลอยนานาชาติจัดขึ้น 5วัน วันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อจุดประกายสำคัญที่ทุกภาคส่วนในจันทบุรีต้องสร้างความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้เส้นทางถนนตลาดพลอยมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ตัวเลขอุตสาหกรรมอัญมณีปีที่แล้วมีมูลค่าการค้ารวมการถึง 200,000 ล้านบาท โดย 80% เป็นการค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตในปีที่แล้วที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด บวกถึง27% เป็นลมหายใจของจันทบุรีและประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นลมหายใจของเศรษฐกิจฐานรากเพราะอุตสาหกรรมอัญมณีของไทยร้อยละ 90 เป็น SMEs และ Micro SMEs ก่อให้เกิดการจ้างงานเกือบ 1,000,000 คน กระจายไปทั่วประเทศ การที่กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลมาช่วยสนับสนุนกับภาคเอกชนและทุกหน่วยงานถือเป็นทิศทางที่ถูกต้องอย่างยิ่ง

" งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021-2022 ปีนี้ เกิดได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญของโลก และในงานนี้มีการจัด OBM (Online Business Matching ) เพื่อเชื่อมผู้ซื้อและผู้ขาย  ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงที่เชี่ยวชาญที่สุดกระทรวงหนึ่งของโลกเพราะเราเป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมทางการตลาดในยุคโควิดที่เรียกว่าระบบ ไฮบริดนำระบบการค้าขายดั้งเดิม กับระบบออนไลน์ มาร่วมกัน ซึ่งวันนี้ตั้งเป้าไว้หลาย 10 ล้านบาท ที่จะสามารถทำสัญญาซื้อขายจริงและจะเพิ่มอีกทั้งปี ซึ่งปีที่แล้วทั้งปีสูงถึง 200,000 ล้านบาท หวังว่าการจัดงานเทศกาลพลอยนานาชาติครั้งนี้จะเป็นอีกครั้งที่จะช่วยให้จันทบุรีเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกสามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนเวียนไปได้อีกหลายรอบต่อไป " นายจุรินทร์ กล่าว 

ทางด้าน นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า การจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของ นโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะเร่งผลักดันจังหวัดจันทบุรี ให้เป็นนครอัญมณีหนึ่งใน ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก (Chanthaburi: City of Gems) เพื่อตอกย้ำตำแหน่งและภาพลักษณ์ของจังหวัดในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าพลอยที่สำคัญของโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่จะ ได้นำเสนอสินค้า และเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ โดยทางสถาบันได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดให้มี Online Business Matching จับคู่ 102 คู่เจรจากับลูกค้าใน 16 ประเทศ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ มีจุดจัดงานหลัก 3 แห่ง คือ 1) ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี 2) เคพี จิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และ 3) บริเวณตลาดพลอย ถนนศรีจันทร์ 

ส่วนนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ในนามของชาวจังหวัดจันทบุรี รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี เปิดงานเทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021-2022 นอกจากจะเป็นการผลักดันความเป็น นครอัญมณี ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกให้เป็นรูปธรรมแล้ว ยังจะเป็นการกระตุ้นฟื้นฟูการค้าอัญมณ์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ซึเป็นช่วงเวลาของการท่องเที่ยวในเทศกาลตรุษจีน และงานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จึงคาดว่า ประชาชนที่มาท่องเที่ยว ในเทศกาลดังกล่าว จะได้เข้าร่วมงานเทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี "อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และภาคการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดต่อไป