In News
'สุพัฒนพงษ์'ย้ำตระหนักปัญหาของปชช. ยันน้ำมันแพงเป็นเรื่องของตลาดโลก

กรุงเทพฯ-รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ ย้ำ รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ยืนยัน บริหารจัดการสถานการณ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (17 ก.พ. 65) เวลา 20.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงการแก้ปัญหาค่าครองชีพของรัฐบาล การช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ดังนี้
ในช่วงการอภิปรายครั้งที่แล้ว ความห่วงใยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเน้นในเรื่องของสถานการณ์โควิด - 19 ทั้งการปิดเมืองและมาตรการต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น และในขณะนี้ทุกอย่างกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ สิ่งที่เป็นห่วงที่ผ่านมาคลี่คลายลงตามลำดับ ขณะเดียวกันสถานะทางการเงินอยู่ในระดับคงที่ คลายกังวลจากการอภิปรายครั้งที่แล้ว วันนี้ทิศทางดัชนีต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการลงทุนจากต่างประเทศ มีการขอรับการส่งเสริมมากกว่าก่อนสถานการณ์โควิด ย้ำว่าสิ่งที่อภิปรายมาก่อนหน้านี้นั้น ได้ถูกร่วมพิจารณา และพัฒนาขึ้น
ด้านปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทุกประเด็นอย่างชัดเจน ปัญหาสิ่งของแพงขอให้ย้อนกลับไปดู พบว่าราคาเพิ่มขึ้นจริง ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ราคาโลก การผลิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายอย่างแพงขึ้น แต่เราต้องรับมือและเผชิญหน้าให้ได้ ในส่วนของพลังงานที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับ 7 ปีที่แล้วมีความใกล้เคียงกัน ไม่ต่างกันมาก มีบางรายการที่ราคาต่ำกว่า ถึงจะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม รัฐบาลพยายามบริหารจัดการไม่ต่างกับรัฐบาลชุดก่อน โดยพยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง และจะทำต่อไป ขอให้รับฟังคำชื่นชมทั้งจากธนาคารโลกที่ได้ให้คะแนนประเทศไทยดี โดยมองว่าประเทศไทยสามารถดูแลคนเปราะบางได้ดี ตามนโยบายของรัฐบาลในช่วงสถานการณ์โควิด - 19
หนี้ครัวเรือนปี 2565 ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศให้เป็นปีที่แก้ไขอย่างจริงจัง ผ่านไป 7 ปี นายกรัฐมนตรีได้ประคับประคองตัวเลขไม่ให้สูงขึ้นมาก ถึงสูงขึ้นมาบ้างแต่ไม่ต่างจากที่ผ่านมา รวมทั้งการจัดหามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่ยากลำบาก จำเป็นต้องช่วยเหลือ ลดปริมาณหนี้ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งมาตรการทวงถามหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้กู้ และในส่วนของหนี้ กยศ. ถ้าได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ปรับปรุงใหม่ของหนี้ กยศ. ก็จะลดภาระหนี้ให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนกว่า 6.4 ล้านราย ซึ่งหวังว่าจะได้รับการพิจารณาและอนุมัติในเดือนพฤษภาคมนี้ ในส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชมรมสหกรณ์ และธนาคารรัฐ เพื่อจะสร้างอำนาจการต่อรอง ให้มีแหล่งทุนที่ถูกกว่า
มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเมื่อเริ่มต้นโครงการประหยัดไปกว่า 1 พันกว่าล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประกาศในการกำหนดการลดเพดานหนี้ให้ต่ำลงเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยขอความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์ทุกรายสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้หลีกเลี่ยงการบังคับคดี อย่าได้ไปยึดหรือทำให้ประชาชนหรือลูกหนี้รายย่อยขาดที่อยู่อาศัย เพราะถือว่าที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน และยังมีมาตรการไกล่เกลี่ยอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเราได้เริ่มตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเริ่มสัมฤทธิ์ผลตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ในส่วนของพลังงานที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยน้ำมัน 90% ก็ยังเป็นการนำเข้าอยู่ มีการขยับขึ้นจริงในตลาดโลก จากวิกฤตการเมือง การผลิตที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่สามารถสอดรับกับเป้าหมายที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยทำให้ราคาพลังงานเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน วันนี้เรากันเงิน 1 บาท ต่ออายุกองทุน ตรึงราคาดีเซลถึง 31 พ.ค. จากเดิม 31 มี.ค. ดีเซลขายปลีกน่าจะลดลง 2 บาท โดยตรึงราคาที่ 30 บาท เพื่อลดภาระภาคประชาชน
เน้นย้ำว่าวิกฤตน้ำมันแพงเป็นเรื่องเดือดร้อนทั่วโลก และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานทั่วโลก คือ โอเปกพลัส ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ อากาศที่หนาวเย็นขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินที่ยังคงอ่อนตัว รัฐบาลมีการดำเนินการเรื่องปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยเริ่มแรกใช้กลไกกองทุนน้ำมัน หลังจากนั้นใช้กลไกภาษีสรรพสามิต แต่หลังจาก 31 พฤษภาคม 2565 หากราคาน้ำมันยังแพงขึ้น ต้องมาพิจารณาสถานการณ์อีกที แต่ราคาน้ำมันไม่น่าจะแพงเกินกว่าเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่เป็นภาระของภาคประชาชน ประเทศไทยมีราคาน้ำมันขายปลีกที่ไม่ได้แพงเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยเป็นรองแค่ประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันได้ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ราคาน้ำมันขายปลีกแพงกว่า ก็ต้องพิจารณาลงไปอีกว่า คุณภาพของน้ำมันสามารถเทียบกับคุณภาพน้ำมันในประเทศไทยได้หรือไม่
สำหรับเรื่องของกลไกราคา ประเทศไทยใช้กลไกราคาตลาดเสรีเป็นกรอบโครงสร้างราคา เพื่อใช้เป็นแนวในการกำกับ ไม่ใช่เป็นการบังคับ แต่เป็นเพียงแนวในการติดตามผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามกลไกตลาดเสรี อย่างเหมาะสม ซึ่งได้มีการใช้มากว่า 30 ปีแล้ว มั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานได้ทำงานในสิ่งที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์กับประชาชน
มีผู้สอบถามว่า ในช่วงที่ราคาน้ำมันดีเซลต่ำ 14 บาท ทำไมไม่เพิ่มกองทุนน้ำให้ราคาขายปลีกเป็น 25 บาท ให้มีเงินเก็บ 11 บาทเข้ากองทุนจะได้ไม่มีปัญหาราคาน้ำมันแพงอย่างทุกวันนี้ เหตุผลประการแรก ณ เวลาที่ราคาน้ำมันต่ำคือปี 63 ไม่มีใครคาดคิดว่าปี 64 - 65 จะเกิดวิกฤติน้ำมันราคาแพง ประการที่สอง เมื่อไปดูข้อมูลแล้วไม่พบน้ำมันราคา 14 บาท แต่พบว่ามีราคา 18 บาทอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการขึ้นราคา นอกจากนี้ การที่จะขึ้นราคาขายปลีก 11 บาท เชื่อว่าจะเป็นภาระของพี่น้องประชาชน ภาระการขนส่ง และเป็นภาระของค่าของชีพ ณ เวลานั้น ซึ่งไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวลานั้นอีก ในทางปฏิบัติจึงเป็นไปได้ยาก
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าต้องการให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เคยทอดทิ้งประชาชนในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นวิกฤติของโลก โดยการช่วยเหลือในเฉพาะส่วนของกระทรวงพลังงาน ล่าสุดได้ใช้เงินช่วยเหลือไปประมาณ 161,866 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของก๊าซหุงต้มผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยเหลือเป็นเงินประมาณ 27,000 กว่าล้านบาท สำหรับราคาน้ำมันใช้งบประมาณไปประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท ในการตรึงราคาน้ำมันเพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าขนส่ง และราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยคาดว่าราคาน้ำมันน่าจะต่ำกว่า 30 บาท ไปเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ ในส่วนของไฟฟ้า NGV ก็มีการช่วยเหลือเช่นเดียวกัน รวมกันแล้วประมาณ 116,000 กว่าล้านบาท
รัฐบาลตระหนักและเข้าใจดี ถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และวันนี้สถานการณ์ที่สินค้ามีราคาแพง ได้ดำเนินการประคับประคองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในวันนี้ที่เป็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชนรัฐบาลจะรับไปพิจารณาต่อไป สำหรับมาตรการที่จะบรรเทาในส่วนของน้ำมันเบนซินกำลังดำเนินการศึกษา คาดว่าจะมีมาตรการออกมาในเร็ววันนี้ ควบคู่กัน รัฐบาลได้มีโครงการคนละครึ่ง และมีการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนนี้ซึ่งครอบคลุมเกือบ 40 ล้านคนที่จะได้รับการดูแลและบรรเทาค่าใช้จ่าย จากสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาสูงขึ้นในช่วงเวลานี้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตินี้อีกด้วย