In News

ทช.ชี้แจงการเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้าง ถนนพาราแอสฟัลท์ติกเป็นแอสฟัลท์ติก



กรุงเทพฯ-กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ประเด็นเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้างผิวทางพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (Para AC) เป็นผิวทางแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (AC)

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ประเด็นเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้างผิวทางพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (Para AC) เป็นผิวทางแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (AC) โดยให้รายละเอียดว่า ได้มีการศึกษาแนวทางในการเพิ่มมูลค่ายางพาราภายในประเทศไทย โดยนำมาผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ได้แก่ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และเสาหลักนำทางยางพาราธรรมชาติ (Rubber Guide Post: RGP) โดยมีสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือด้านวิศวกรรมทั้งในและต่างประเทศให้การรับรอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้างผิวทาง Para AC เป็นผิวทางแบบ AC มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม ประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประชาชนอย่างรอบครอบ ตามวินัยการเงินการคลัง โดยได้รายงาน ครม. เพื่อทราบและให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ

ทช. ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ตามที่ ครม. ได้มีมติให้ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงมอบให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งปรับปรุงเส้นทางคมนาคม โดยเน้นการใช้ยางพาราเป็นวัสดุในการก่อสร้าง หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารา เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. โดยได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจระดับสูงและมีความคุ้มค่า รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนและเกษตรกรชาวสวนยางพารา ดังนี้

1. ก่อนทราบผลการศึกษาด้านความปลอดภัยให้ กรมทางหลวง (ทล.) และ ทช. ส่งเสริมการใช้ยางพาราด้วยการก่อสร้างผิวทางแบบ Para AC
2. หลังทราบผลการศึกษา พบว่าการนำยางพารามาผลิตเป็นอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในงานทางได้มากขึ้นกว่าเดิม และสามารถนำมาประยุกต์เป็น RFB และ RGP เพื่ออำนวยความปลอดภัยทางถนน ดังนั้นงบประมาณปี 2563 จึงขอแก้ไขสัญญา

เปลี่ยนผิวทางจาก Para AC เป็น AC ซึ่งราคาต่ำกว่า และสามารถนำงบประมาณในส่วนที่เหลือมาดำเนินการ RFB ได้ ส่วนในด้านแนวทางการแก้ไขสัญญา ทช. ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ซึ่งจากการวินิจฉัยปรากฎว่าอยู่ในดุลยพินิจที่พิจารณาดำเนินการได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นและไม่ทำให้ราชการเสียประโยชน์ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอประกอบการพิจารณาแก้ไขสัญญาด้วย จากนั้นกระทรวงคมนาคมจึงเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อรับทราบแนวทางในการดำเนินการ โดย ครม. เห็นชอบให้ดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่  26 พฤษภาคม 2563

จากการศึกษาการดำเนินการนำยางพารามาผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ได้แก่ RFB และ RGP จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และสถาบัน Korea Automobile Testing & Research Institute (RATRI) พบว่าสามารถลดอัตราการสูญเสีย เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และยังพบว่ามีปริมาณการใช้ยางพาราสูงกว่าการก่อสร้างผิวทางแบบ Para AC ซึ่งมีการศึกษามูลค่าผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับดังนี้

- RFB ราคาต้นทุน 3,140 - 3,757 บาท/เมตร ผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ 2,189.63 - 2,798.10 บาท/เมตร คิดเป็นร้อยละ 70 - 74
- RGP ราคาต้นทุน 1,607 - 2,223 บาท/ต้น ผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ 1,162.58 - 1,778.18 บาท/ต้น คิดเป็นร้อยละ 72 - 80
- Para AC ราคาต้นทุน 294.93 บาท/ตารางเมตร ผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ 15.04 บาท/ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 5.10

ซึ่งการดำเนินการจะต้องรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง  ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง นอกจากนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังได้ระบุประเด็นความปลอดภัยทางถนนไว้ในแผนแม่บท โดยกำหนดเป้าหมายระยะยาวลดการเสียชีวิตทางถนนลงเหลือ 12 จาก 100,000 ประชากร ภายในปี 2570 และจากตัวเลขล่าสุดปี 2562 ปรากฏที่ 29.9 ต่อ 100,000 ประชากร ดังนั้นแนวทางการปฏิบัติของกระทรวงคมนาคมจึงสนับสนุนให้ประเทศไทยลดอัตราการเสียชีวิตลง การออกแบบและการติดตั้ง RFB        และ RGP เป็นไปตามวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย (Safe System Approach) ที่ทั่วโลกยอมรับ คือ มุ่งลดการเสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัสบนถนนไทยให้เป็นศูนย์ในที่สุด และมีผลสัมฤทธิ์จากการติดตั้งสามารถประเมินได้ว่าลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน ลดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตของผู้ใช้ทางอย่างชัดเจน