In News
ยอดจ่ายคนละครึ่งเฟส4พุ่งแตะ5.4หมื่นล. คลังเร่งเคลียร์2.6ล้านสิทธิที่ถูกตัด

กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาล เผย ยอดค่าใช้จ่ายของรัฐพุ่งแล้วแตะ5.4 หมื่นล้านบาท ใช้ได้ถึง 30 เม.ย. นี้ ส่วน ก.คลังเร่งหารือข้อสรุป 2.6 ล้านสิทธิที่ถูกตัดสิทธิหลังไม่ได้ใช้ภายในกำหนด ด้าน “นายกฯ” เชิญชวนบริโภคผลไม้ตามฤดูกาลอุดหนุนเกษตรกรและเสริมวิตามิน คลังเผยความคืบหน้ามาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศปี 2565 จากข้อมูลสะสม ณ วันที่ 3มีนาคม 2565 ณ เวลา 23.00 น. มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 40.72 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 53,889.99 ล้านบาท
วันที่ 5 มี.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้า มาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐของปี 2565 จำนวน 3 โครงการ ที่เปิดให้ใช้จ่ายไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 ประกอบด้วย โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 ที่รัฐบาลเพิ่มวงเงินสนับสนุนในการช่วยลดภาระการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของประชาชน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยความคืบหน้าล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 3 มี.ค. 65 ผู้ใช้สิทธิ สะสม รวม 40.72 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 53,889.99 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.23 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 49,420.9 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 25,104.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 24,316.2 ล้านบาท 2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.28 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 4,116.12 ล้านบาท และ 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.21 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 352.97 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายในการขับเคลื่อนทุกกลไกเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยุคที่ต้องเผชิญกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด -19 โดยรัฐบาลได้มีมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายประจำวันของประชาชน เป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมีผู้ประกอบการบริการร้านค้า ร้านธงฟ้า OTOP รวมทั้งกิจการขนส่งสาธารณะ ร่วมโครงการมากมาย ถือเป็นโครงการที่ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ลงทะเบียนไว้ต่างได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งนี้ หลังจากที่ให้สแกนใช้จ่ายสิทธิภายในวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ไม่ใช้สิทธิตามวันที่กำหนด ถูกตัดสิทธิจำนวน 2.6 ล้านสิทธิ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทาง ในระดับนโยบายว่าจะดำเนินการกับสิทธิที่เหลืออย่างไรต่อไป
“ประชาชนสามารถใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 หรือจนกว่าจะใช้จ่ายเต็มวงเงิน 1,200 บาท โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจร่วมกันออกแบบมาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในแต่ละช่วงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องวิเคราะห์ปัจจัยหลายด้านควบคู่กัน นอกจากนี้ ท่านนายกฯ ยังได้ติดตามราคาสินค้าเกษตรเร่งช่วยเหลือ ชาวนา เกษตรกร โดยเชิญชวนให้ประชาชนบริโภค/อุดหนุนสินค้าเกษตร ผลไม้ตามฤดูกาลในช่วงนี้เป็นการเป็นการเพิ่มวิตามินซีช่วงสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายป้องกันโควิด-19 ได้ และขอให้ประชาชนเข้มงวดในมาตรการ Universal Prevention ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังต่อไป” นายธนกร กล่าว
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศปี 2565 ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 พบว่า จากข้อมูลสะสม ณ วันที่ 3มีนาคม 2565 ณ เวลา 23.00 น. มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 40.72 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 53,889.99 ล้านบาท โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้
1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 13.28 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 4,116.12 ล้านบาท
2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 1.21 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 352.97 ล้านบาท
3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 (ประชาชนกลุ่มเดิมฯ) จำนวน 25.46 ล้านราย ซึ่งมียอดใช้จ่าย 48,384.0 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 (ประชาชนกลุ่มใหม่ฯ) จำนวน 7.7 แสนราย ซึ่งมียอดใช้จ่าย 1,036.9 ล้านบาท รวมมีผู้ใช้สิทธิทั้งหมดจำนวน 26.23 ล้านราย และยอดการใช้จ่ายรวม49,420.9 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 25,104.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 24,316.2 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 20,417.0 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 8,553.9 ล้านบาท ร้านOTOP 2,213.6 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 17,279.6 ล้านบาท ร้านบริการ 867.7 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 89.1 ล้านบาท โดยมีประชาชนที่ได้รับสิทธิทั้งหมด 26.38 ล้านราย ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มเดิมฯ ที่กดยืนยันสิทธิและมีการใช้สิทธิโครงการฯ ระยะที่ 4 แล้ว จำนวน 25.46 ล้านราย จากจำนวนผู้ใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวน 26.35 ล้านราย สำหรับผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 4 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วจำนวน 1.35 ล้านราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 2.58 หมื่นราย
สำหรับข้อมูลการใช้จ่ายสะสมผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีการใช้จ่ายสะสม 1,424.7 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 737.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 687.4 ล้านบาท และในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4ที่ขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มมีจำนวน 9.23 หมื่นราย
ทั้ง 3 โครงการดังกล่าวข้างต้น ประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการร้านค้ารายใหม่ยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ผ่าน www.คนละครึ่ง.com หรือติดต่อเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยในพื้นที่หรือสาขาธนาคารกรุงไทยฯ ได้อย่างต่อเนื่องจนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศปิดรับสมัคร