In Thailand

สุราษฎร์ฯจัดโครงการมหกรรมการออม ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน 



สุราษฏร์ธานี-ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีจัดเต็ม “โครงการมหกรรมการออม ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน” 

เมื่อวันที่ 7  มีนาคม 2565 ณ ที่ทำการ กลุ่มออมทรัพย์ เพื่อการผลิต บ้านคลองใหม่ ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ นายศักดาพร รัตนสุภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มงานสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ  นายถามะ มโนวราวุฒิ พัฒนาการอำเภอเมือง นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนทุกอำเภอ คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กิจกรรมนี้จัดขึ้น เพื่อเป็นการ ฉลองในโอกาสครบรอบ 48 ปีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ภายใต้ โครงการ “ มหกรรมการออม ลดความเหลื่อมล้ำ ของประชาชน” เพื่อเป็นการเผยแพร่ สร้างความรู้ ด้านการออม และสร้างความตระหนัก ให้ประชาชน ได้เห็นถึงความสำคัญ ของการออม และมีการจัดตั้ง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ในหมู่บ้าน ชุมชนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาคน ด้วยหลักคุณธรรม 5 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจและความไว้วางใจกัน  อันจะส่งผลให้คนมีคุณธรรม มีการช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปันซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน การบริหารจัดการเงินทุน เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ และจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก สังคมลดการพึ่งพิงจากภายนอก และที่สำคัญ เป็นการฝึกให้คนมีความอดทน อดออมมีสัจจะ มีระเบียบวินัยในการใช้เงินอย่างมีเหตุผลมีความเหมาะสมพอประมาณ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นายศักดาพร รัตนสุภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีเป้าหมาย สำคัญในการพัฒนาคนในชุมชนให้มีการดำเนินชีวิตและเรียนรู้การทำงานร่วมกันในรูปแบบ "กระบวนการกลุ่มและใช้ "สัจจะออมทรัพย์" เป็นเครื่องมือในการสร้างวินัย การออมของสมาชิกให้รู้จักการประหยัด อดออม และใช้จ่ายอย่างเหมาะสม สะสมเป็นทุน และหลักประกันในการลงทุน อีกทั้งยังเป็นภูมิคุ้มกันในการดูแลคุณภาพชีวิต ช่วยลดปัญหาหนี้สินโดยเน้น คุณธรรม 5 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจ และความไว้วางใจ ทั้งนี้การส่งเสริมให้คนออมเงิน และนำเงินไปใช้ ในการพัฒนาอาชีพ เป็นการลดภาระ การกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง เป็นการพัฒนาคนให้มีคุณธรรม มีกระบวนการเรียนรู้ในการบริหารเงินทุนในชุมชน และการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและชุมชนส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการพัฒนาและแก้ปัญหาของตนเอง ด้วยวิธีการทำงานร่วมกันในชุมชนตามที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับคณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อการผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันก่อตั้ง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ครบรอบ 48 ปี ขึ้นในครั้งนี้ซึ่งเป็นการรวมพลัง เพื่อแสดงถึงความสำเร็จ ของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอันเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามภารกิจกรมการพัฒนาชุมชน และภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การประกาศเป็นวาระชุมชนส่งเสริมการออมภาคประชาชน เป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนให้สำเร็จตามเป้าหมาย

ทางด้านนายสัญชัย ชนะดี ประธานคณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจังหวัดสุราษฎร์ธานีกล่าวว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เป็นเสมือนคนในครอบครัวกรมการพัฒนาชุมชน ทำหน้าที่ในการพัฒนาคน พัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาสังคม ทั้งนี้การดำเนินงานแต่ละกลุ่มต้องดำเนินการตามบริบทของพื้นที่ไม่สามารถที่จะดำเนินการในรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศได้ แต่ควรยึดหลักการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่กรมการพัฒนาชุมชนให้ไว้โดยเฉพาะในเรื่องคุณธรรม 5 ประการ

โดยที่นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ข้อมูลว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ ได้ดำเนินการส่งเสริมกลุ่มออมทรัพย์ ให้มีการบริหารจัดการ ตามหลักธรรมาภิบาล เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน โดยการบูรณาการร่วมกับกองทุนชุมชนต่างๆ ในการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน  ปัจจุบันจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน 350 กลุ่ม สมาชิก 68,468 คน เงินสัจจะสะสมทั้งหมด 1,522,433,795 795 บาท นอกจากนั้นแล้วกิจกรรมวันนี้ ยังเป็นการจัดเพื่อ ฉลองเนื่องในโอกาสการสถาปนากระทรวงมหาดไทยครบรอบ 130 ปี และวาระการครบรอบ 60 ปี การก่อตั้งกรมการพัฒนาชุมชน ในปี 2565 ในการนี้กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดให้ การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของชุมชนตามภารกิจกรมการพัฒนาชุมชน และภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน ขจัดปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมกรมกการพัฒนาชุมชนได้ประกาศเป็นวาระชุมชน ส่งเสริมการออมภาคประชาชน ในระดับจังหวัดและอำเภอ เป็นการสร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกัน ให้แก่สมาชิกในครัวเรือน ทางนี้มีเป้าหมายให้ครัวเรือนมีการออมเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ขอเงินออมเดิมที่มีอยู่เดิม และครัวเรือนมีการออมร้อยละ 90 ของครัวเรือนทั้งหมด อีกทั้งครัวเรือนยากจนเป้าหมายในระบบ TP MAP มิติด้านรายได้ ได้มีการออมเงินอย่างน้อยร้อยละ 50 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด

กิจกรรมในวันนี้ได้มีการจัดนิทรรศการผลการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์ดีเด่นระดับอำเภอ และมอบประกาศเกียรติคบัตรกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่ดีเด่นจากทุกอำเภอ จำนวน 19 แห่งและศูนย์จัดการกองทุนชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด 1 แห่งได้แก่ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านคลองใหม่ ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมืองอีกด้วย  ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย นายเลอชาย สยังกูร ปลัดอาวุโสแทนนายอำเภอเมือง นายวราภรณ์ คงอุดหนุน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวัดประดู่ นายศักดิ์สิทธิ์ สุนทรกุล ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 16  คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจังหวัดสุราษฎร์ธานี  และคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในพื้นที่ทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี  พัฒนาการอำเภอเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจากทุกอำเภอเข้ารวมประมาณ 150 คน

การจัดงานในวันนี้ได้รับการสนับสนุน เป็นอย่างดี จาก คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองใหม่ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดสมหวังวนาราม เทศบาลตำบลวัดประดู่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่พัฒนา ธนาคารออมสินภาค 16       

กิจกรรมในวันนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลยุทธ์การดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจังหวัดสุราษฎร์ธานี อันจะนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาด้านการบริหารจัดการ ของคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ให้มีศักยภาพ และเกิดประโยชน์ ต่อสมาชิก และสังคม ต่อไป นำไปสู่ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ ในที่สุด 

นายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
นายธรรมรงค์ จิตร์นุ่ม นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ 
กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี
 รายงาน