In News

รฟท.แจงข้อพิพาทที่ดินเขากระโดงบุรีรัมย์ กรมที่ดินดองเรื่อง-มักกะสันเป็นผู้บุกรุก



กรุงเทพฯ-การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทการบุกรุกที่ดินบริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ และพื้นที่บริเวณมักกะสัน กรุงเทพฯโดยยึดหลักจริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส เท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ

จากกรณีที่นายสกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายความอิสระ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการที่ รฟท. ไม่สั่งการให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ขณะเดียวกันกลับเลือกฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านนับ 100 ราย ที่เข้าไปอยู่อาศัยในบริเวณที่ดินรถไฟฯ มักกะสัน กรุงเทพฯ นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดแถลงข่าวชี้แจงการแก้ปัญหาข้อพิพาทการบุกรุกที่ดิน โดยมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และผู้บริหาร รฟท. เข้าร่วมชี้แจง โดยระบุว่า รฟท. ได้ดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินของรถไฟทั่วประเทศอย่างจริงจัง บนพื้นฐานของความถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย มีความเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ และยึดหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรมอย่างเหมาะสมเสมอมา แต่ที่ผ่านมากลับมีการนำข้อพิพาทที่ดินเขากระโดงในบางประเด็นมากล่าวอ้าง จนสร้างความสับสนให้สังคมเข้าใจผิด และกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กร จึงจำเป็นขอชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมถึงการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว 

ทั้งนี้ ในกรณีที่ดินเขากระโดง ถือเป็นเป็นปัญหาการมีเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนบนที่ดินรถไฟ ซึ่งในกรณีนี้มีการยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา ซึ่งต่อมา ป.ป.ช.ได้มีมติให้กรมที่ดิน เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ไม่ได้สั่งให้ รฟท. ไปฟ้องประชาชน ประกอบกับเมื่อปี 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่ราษฎรฟ้อง รฟท. ให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท. โดยศาลเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ รฟท. นำเสนอว่า พื้นที่เขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของรถไฟ แต่คำพิพากษาจะผูกพันเฉพาะคดีนั้นๆ ไม่สามารถเอาคำพิพากษาไปบังคับกับที่ดิน 5,083 ไร่ได้ 

รฟท. จึงได้นำแนวทางคำพิพากษาดังกล่าว มาดำเนินการขอเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินนอกเหนือจากรายที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว โดยทำหนังสือถึงกรมที่ดินให้วินิจฉัยว่าการออกโฉนดเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ แต่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนด 90 วัน กรมที่ดินกลับไม่ได้พิจารณาตอบกลับมา รฟท. จึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ฟ้องกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 1 และอธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 2 ในฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าไม่ดำเนินการตามที่ รฟท. ร้องขอ และไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของรถไฟ ซึ่งศาลปกครองกลางได้รับฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ขณะเดียวกันยังยื่นเรียกร้องค่าเสียหายเป็นวงเงินประมาณ 700 ล้านบาทกับกรมที่ดิน ซึ่งเป็นการประเมินจากรายได้ที่ รฟท. ต้องสูญเสียไป (ไม่รวมดอกเบี้ย) จากการที่กรมที่ดินไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาศาลฎีกา

ปัจจุบัน ที่ดินที่ รฟท. ได้ยื่นให้ศาลปกครองตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิมีทั้งหมด  5,083 ไร่ มีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ประมาณ 900 ราย แบ่งเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 700 ราย ที่มีการครอบครอง (ท.ค.) จำนวน 19 ราย น.ส.3ก. จำนวน 7 ราย หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน 1 ราย ทางสาธารณประโยชน์ จำนวน 53 แปลง และอื่นๆ ที่ไม่ปรากกฎเลขที่ดินในระวางแผนที่อีกจำนวน 129 แปลง ซึ่ง รฟท. ยืนยันว่าพร้อมจะดำเนินการนำที่ดินทั้งหมดกลับมาเป็นทรัพย์สินของ รฟท. แต่จะไม่ฟ้องร้องตรงต่อประชาชน โดยหลังจากนี้จะต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองให้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด 

นายนิรุฒกล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหาการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟท. มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ การบุกรุกที่ดินแบบไม่มีเอกสารสิทธิ์ และการเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยมีเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่ดินรถไฟ ซึ่งจะมีการดำเนินการแก้ไขที่แตกต่างกัน โดยปัจจุบันมีกรณีผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินรถไฟฯ โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั่วประเทศ 18,822 ราย ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 1,538 ราย สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 911 ราย  นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจังหวัดอื่นรวม 3,045 ราย และพื้นที่อื่นๆ 12,459 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ได้รวมถึงกรณีชาวบ้าน 100 ครัวเรือนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณริมทางรถไฟมักกะสันโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีการเจรจากับผู้บุกรุกเพื่อขอคืนพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแล้ว

ส่วนอีกกลุ่มกรณีผู้ถือเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่ดินรถไฟ โดยมีการออกเอกสารสิทธิที่ดินเป็นเอกสารราชการอย่างถูกต้อง และอาศัยอยู่โดยสุจริตจำนวน 1,137 ราย ประกอบด้วย พังงา-ท่านุ่น 20 ราย อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 15 ราย บ้านโพธิ์มูล จ.อุบลราชธานี 2 ราย เขากระโดงจ.บุรีรัมย์ 900 ราย และพื้นที่อื่นๆ 200 ราย ซึ่งในส่วนนี้ รฟท. จะไม่ดำเนินการกับผู้ถือเอกสารสิทธิ์เหมือนกับกลุ่มผู้บุกรุก เพราะ รฟท. มองว่าประชาชนที่ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการ และอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ยังเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินโดยสุจริต

นอกจากนี้ ในการดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินของ รฟท. ยังได้มีการตั้งคณะทำงานใน 3 ระดับขึ้นมาดูแล คือ 1.คณะทำงานภายในของ รฟท. เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจัดทำบัญชีรายชื่อ ชุมชุน และจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม 2.คณะทำงานในระดับกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน พิจารณาให้ความช่วยเหลือในระดับนโยบาย 3. คณะกรรมการระดับประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนในที่ทำกิน ทั้งระดับรองนายกรัฐมนตรี และระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน 

ท้ายนี้ขอย้ำว่า รฟท. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินต่างๆ โดยยึดหลักจริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล เพื่อความถูกต้อง โปร่งใส  ตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย และดำเนินการกับผู้บุกรุกทั่วประเทศด้วยความเท่าเทียม เสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ควบคู่กับการดูแลพิทักษ์ทรัพย์สินของ รฟท. เป็นสำคัญ