In Bangkok

กทม.ติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด รองรับผู้ป่วยหลังเทศกาลสงกรานต์ 



กรุงเทพฯ-ปลัดกทม. ติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ 

(19 เม.ย. 65) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้มีการส่งเสริมความรู้และเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน ภาคราชการ เอกชน โดยเฉพาะผู้ที่ร่วมกิจกรรมและเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการของตนเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างใกล้ชิด ในช่วง 7 วันหลังเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 18-24 เม.ย. 65 รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนของร้านค้า สถานประกอบการ ให้เตรียมความพร้อมมาตรการควบคุมโรคแบบบูรณาการและแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ภายหลังเทศกาลสงกรานต์ปี 65 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยเมื่อเดินทางกลับมาจากเทศกาลสงกรานต์ เพื่อความไม่ประมาทประชาชนควรตรวจคัดกรองตนเองก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เช่น การตรวจด้วยวิธี ATK หรือ RT-PCR ซึ่งหากมีผลบวกจะได้นำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที เฝ้าระวังอาการตนเองเมื่อเดินทางกลับมาจากเทศกาลสงกรานต์ เช่น อาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หากมีอาการดังกล่าวให้เร่งดำเนินการตรวจคัดกรองตนเองด้วยวิธี ATK หรือ RT-PCR หากผลเป็นลบให้ตรวจซ้ำเมื่อครบ 7 วัน หรือเมื่อมีอาการ ช่วงสังเกตอาการให้เลี่ยงพบผู้คน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และใช้มาตรการ Work From Home ในช่วง 7 วันหลังกลับจากต่างจังหวัด หากประชาชนสงสัยว่ามีการติดเชื้อ ให้ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เพื่อเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาหากผลติดเชื้อ และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ไปยังคนรอบข้าง ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มีดังนี้ 1. มีไข้หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5C ขึ้นไปไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว 2. มีประวัติอาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาดหรือสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 14 วัน 3. ช่วง 2-3 วันก่อนมีอาการ มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับสมาชิกครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ที่เป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่ายหรือผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19  โดยสำนักการแพทย์ ร่วมกับสำนักอนามัย สำนักงานเขต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยชุดตรวจ ATK ในพื้นที่กรุงเทพฯ หากตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้ขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์ กทม. ผ่านไลน์ @BKKCOVID19CONNECT ได้ ซึ่งจะมีทีมแพทย์คอยให้คำปรึกษา แนะนำให้เข้าระบบการรักษา HI และส่งต่อเข้ารับการรักษา CI และหากมีอาการรุนแรง ศูนย์เอราวัณจะประสานและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาใน รพ.สนาม รพ.หลัก ตามระดับความรุนแรงต่อไป 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือโดยการประเมินจากเภสัชกรประจำร้านยา ซึ่งจะเป็นผู้ซักถามข้อมูลความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 โดยช่องทางการรับชุดตรวจ ATK สามารถรับได้ที่ร้านขายยา คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเทคนิคการแพทย์ฯ หรือหน่วยบริการอื่นกว่า 2,000 แห่ง โดยสังเกตป้ายหน้าร้านที่ติดตามรูปภาพแนบ หรือลงทะเบียนผ่านแอปเป๋าตัง หลักเกณฑ์การรับชุดตรวจ ATK นั้น ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถรับชุดตรวจ ATK ฟรี คนละ 2 ชุดต่อครั้ง และให้นำชุดตรวจ ATK ที่ได้รับมาตรวจหาเชื้อทันที พร้อมให้บันทึกผลการตรวจในระบบในแอปพลิเคชัน โดยกรณีที่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซ้ำสามารถขอรับชุดตรวจ ATK เพิ่มเติมได้โดยเว้นช่วงระยะเวลาห่างกัน 10-14 วัน หากไม่ลงผล ATK จากการตรวจรอบแรกในแอปเป๋าตัง จะไม่สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ในครั้งต่อไปได้ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมแจกชุดตรวจ ATK ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/197 กรณีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน สามารถโทร. 1330 กด 17 เพื่อตรวจสอบข้อมูลหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ และเดินทางไปที่หน่วยบริการพร้อมบัตรประชาชน/สูติบัตร เพื่อให้ตัวแทนหน่วยบริการทำประเมินความเสี่ยงให้ หรือรับบริการตรวจ ATK ได้ที่คลินิก ARI ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 69 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ทั้งนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ติดตามเฝ้าระวังและแจ้งข้อมูลดังกล่าวประชาสัมพันธ์ไปยังประธานชุมชนและประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ด้วย 

นอกจากนี้ ยังบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ และภาคเอกชน เปิดให้บริการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุดตรวจโควิด-19 Antigen Test Kit หรือ ATK ให้กับ “ผู้ที่มีความเสี่ยง” สามารถตรวจได้โดย “ไม่เสียค่าใช้จ่าย” โดยให้บริการแบบ Drive Thru 2 แห่ง ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ถนนบรมราชชนนี (สายใต้ใหม่) เขตตลิ่งชัน และวิคตอเรีย การ์เด้นส์ เขตบางแค และโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. อีกทั้ง 11 แห่ง ผ่านการลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้า หรือติดต่อสอบถามได้ที่ รพ.กลาง โทร. 0 2220 8000 รพ.ตากสิน โทร. 0 2328 6760 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร. 0 2289 7986 รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ โทร. 0 2429 3258 รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร. 0 2543 2090 รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร. 0 2327 3049 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร. 0 2444 3900 ต่อ 8878 รพ.สิรินธร โทร. 0 2328 6760 รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน โทร. 0 2452 7999 รพ.คลองสามวา โทร. 09 4998 8807 และ รพ.บางนากรุงเทพมหานคร โทร. 0 2180 0201-3 ต่อ 103, 104 

สำหรับแนวทางเตรียมความพร้อมเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มมากขึ้นภายหลังเทศกาลสงกรานต์ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม Hospitel จำนวน 3,500 เตียง นอกจากนี้ยังมีศูนย์พักคอยที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 5,500 เตียง อีกทั้งยังมีการดำเนินการดูแลรักษาที่บ้าน Home Isolation และ COVID Self Isolation ที่ดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เตรียมพร้อมสำรองยา และเวชภัณฑ์ให้มีความเพียงพอ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้ป่วยช่วงหลังสงกรานต์ โดยบูรณาการโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกสังกัด ทั้งโรงพยาบาล กทม. โรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน มีศักยภาพเตียงเพียงพอรับได้ ในส่วนผู้ป่วยสีเขียวหรือสีเหลือง มี CI ที่เตรียมไว้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ หากประชาชนที่จะอยู่บ้านสามารถทำได้ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลจากบุคลากรสาธารณสุข ทั้งนี้ ในส่วนอัตราครองเตียงของโรงพยาบาลสังกัดกทม. มีการแบ่งส่วนที่รับผู้ป่วยโควิด-19 ไว้ ผู้ป่วยปกติสามารถรักษาหรือผ่าตัดได้ปกติ 

ในส่วนของแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยยังได้รับการรักษาฟรีทุกราย โดยแบ่งตามกลุ่มระดับอาการ ผู้ป่วยสีเขียว ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย เข้ารับการรักษาได้ฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ ได้แก่ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม โดยกักตัวที่บ้าน (HI) กักตัวในชุมชน (CI) Hospitel หรือเข้าโครงการ “เจอ แจก จบ” ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ผู้ป่วยสีเหลือง มีอาการแน่นหน้าอกหายใจลำบาก ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน กลุ่ม 608 กลุ่มนี้เข้ารับรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ และรักษาฟรีกับ UCEP Plus ได้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ป่วยสีแดง มีอาการหอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยค หายใจเจ็บหน้าอก มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชม. ค่าออกซิเจนน้อยกว่า 94% กลุ่มนี้เข้ารับรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ และรักษาฟรีกับ UCEP Plus ได้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทั้ง 3 กลุ่ม สามารถติดต่อ ศูนย์เอราวัณ 1669 สปสช.1330 กด 14 กรม สบส.1426 UCEP Plus 0 2872 1669 

ทั้งนี้ วิธีการที่จะทำให้สถานการณ์ไม่เพิ่มสูงขึ้นจนเกินศักยภาพระบบสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันป้องกันตนเองและคนในครอบครัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง DMHTT และ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด มุ่งเน้น 3 พฤติกรรมสำคัญ คือ 1. ไม่รวมกลุ่มรับประทานอาหารด้วยกันเป็นเวลานาน ถ้ารับประทานร่วมกันต้องแบบใช้เวลาสั้น ๆ 2. ใส่หน้ากากอนามัย ถ้าอยู่กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกลุ่ม 608 หรือเด็กเล็ก ป้องกันไม่ให้ป่วย และ 3. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดปาร์ตี้ ซึ่งจะช่วยป้องกันเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุด้วย หากต้องการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ สามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่ Hotline 1646 สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร บริการตลอด 24 ชั่วโมง