In Bangkok

กทม.เดินหน้ามาตรการเฝ้าระวัง-ป้องกัน 'พิษสุนัขบ้า'ในพื้นที่ต่อเนื่อง 



กรุงเทพฯ-รองปลัดกทม. เผยสถานการณ์พิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมเดินหน้ามาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน “พิษสุนัขบ้า” ในพื้นที่ต่อเนื่อง 

นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ติดต่อกันมานานกว่า 5 ปี ซึ่งพบผู้เสียชีวิตรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 ที่เขตบางนา และมีจำนวนสัตว์เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าลดน้อยลงใน 7 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2564) พบสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 22, 32, 47, 18, 6, 0 และ 0 ตัว ตามลำดับ ในปี 2565 พบสัตว์เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ที่เขตหนองจอก โดยมีเขตที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้ามาแล้วเป็นเวลา 2 ปี มีจำนวน 49 เขต (คิดเป็นร้อยละ 98) ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยมีมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคฯ โดยการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เพื่อผ่าตัดทำหมันลดการเพิ่มจำนวนสุนัขและแมวซึ่งเป็นพาหะนำโรคฯ จัดการออกหน่วยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมโดยมีเป้าหมาย 80% ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว กรณีพบสัตว์สงสัยโรคพิษสุนัขบ้า นำมากักสังเกตอาการ หากเสียชีวิตจะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและลงพื้นที่สอบสวนและควบคุมโรคฯทั้งในสัตว์และคน ภายใน 24 ชั่วโมง ดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันในพื้นที่พบโรคฯอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าและประชาสัมพันธ์สถานการณ์การเกิดโรคแก่ อสส. ในการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคและดูแลความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคของเด็กและเยาวชนในชุมชนของตนเองอยู่เสมอ

ทั้งนี้ สำนักอนามัยได้ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่รณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ออกหน่วยลงพื้นที่ฉีดวัคซีนฯ ในสัตว์ ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 วันวันละ 50 แห่ง อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีโดยให้บริการช่วงเดือนมีนาคมและกันยายน พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สัตว์เลี้ยงตนเองและในพื้นที่ชุมชนที่อาศัยอยู่ รวมถึงการจัดออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนฯ ตามที่ประชาชนร้องขอการบริการใกล้บ้านเพื่อให้เกิดความสะดวกและเป็นการลดภาระของประชาชนที่จะนำสัตว์มารับบริการ รวมถึงประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบเช่นแผ่นพับประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจและแผ่นป้ายการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และช่องทาง Facebook ของกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข รวมถึง Facebook ของศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งและสำนักงานเขต 50 เขต ซึ่งเป็นเครือข่ายในการสื่อสารการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมทั้งศูนย์สุขภาพชุมชนที่มี อสส. ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในชุมชนเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างทั่วถึงในการแนะนำประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัข-แมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนฯ กรณีการถูกสัตว์กัดหรือข่วนให้รีบล้างแผลโดยเร็วด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้งใส่ยาฆ่าเชื้อบริเวณแผล สังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน และพบแพทย์ทันทีโดยสามารถเข้ารับบริการตรวจรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของสำนักอนามัยทั้ง 69 แห่ง

นอกจากนี้ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และเผยเเพร่ข้อมูลทางเครือข่าย Facebook ของกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุขและสำนักงานเขตทุกแห่งอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างภาคีเครือข่ายร่วมกับกลุ่มคนรักสัตว์และมูลนิธิเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ เพื่อควบคุมจำนวนและดูแลสวัสดิภาพสัตว์จรจัดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบต่อตัวสัตว์และต่อสังคมเพื่อให้อยู่ร่วมกันโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาและการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพฯ