In Bangkok
กทม.ดูแลผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะติดเชื้อร่วม 'โรคทางเดินหายใจอื่น'ในเวลาเดียวกัน

กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์ ง
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีผู้เชี่ยวชาญระบุผู้ป่วยโควิด 19 อาจติดโรคทางเดินหายใจอื่นในเวลาเดียวกันได้ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ มีแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย โควิด 19 ที่มีภาวะติดเชื้อโรคทางเดินหายใจอื่นร่วมด้วยในสถานพยาบาลสังกัด กทม. โดยดำเนินการตามแนวทางการให้ยาผู้ป่วยโควิด 19 ของกรมการแพทย์ มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. โดยแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปอดบวม (pneumonia) เล็กน้อย และมีปัจจัยเสี่ยง คือ เป็นผู้ป่วยในกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30 กก./ตร.ม.) โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน รวมถึงตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม. ให้เข้ารับการรักษาใน รพ.โดยให้อยู่ในระบบการรักษาและการแยกโรคนับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น โดยพิจารณาให้ยาตามระดับความรุนแรงของอาการ
อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อโควิด 19 นอกจากการเกิดโรคแทรกซ้อน หรือการเกิดลิ่มเลือดในช่วงที่มีอาการป่วยจากโควิด 19 แล้ว ยังมีอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากในผู้ที่เป็นโควิด 19 ภูมิต้านทานจะผิดปกติจากตัวโรค หรือบางครั้งภูมิต้านทานอาจจะผิดปกติจากการรักษา เช่น อาจจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่มเด็กซาเมทาโซน (Dexamethasone) ซึ่งจะไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ และเชื้อโควิด 19 หากลงปอด จะทำให้ปอดอักเสบคล้ายมีแผลเล็ก ๆ ในปอด ทำให้ปอดอ่อนแอ จะทำให้ติดโรคแทรกซ้อนซ้ำขึ้นมาอีก ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ประชาชนควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองเบื้องต้นโดยการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นและรับเชื้อโรคอื่น ๆ หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด