In Bangkok
กทม.ถกแนวแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางข้าม ต้นแบบเมืองใหญ่ขับเคลื่อนสู่เมืองเล็ก

กรุงเทพฯ-รองปลัดกทม. หารือแนวทางแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางข้าม ต้นแบบเมืองใหญ่ขับเคลื่อนสู่เมืองเล็ก
(22 เม.ย.65) เวลา 10.00 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ กรณีอุบัติเหตุปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ทางข้ามหรือทางม้าลาย โดยมี นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 904 ชั้น 9 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่
ในที่ประชุม สำนักการจราจรและขนส่ง ได้รายงานการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ในการกำหนดแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางข้ามหรือทางม้าลาย สร้างการรับรู้ของสังคมให้หยุดรถบริเวณทางข้าม สร้างการรับรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วและหยุดให้คนข้ามบริเวณทางข้าม ตลอดจนสร้างความตระหนักถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการขับขี่รถที่ไม่มีวินัยและไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร การจัดกิจกรรมร่วมรู้ ร่วมคิด ป้องกันอุบัติเหตุทางถนน คนปลอดภัย ชุมชนเป็นสุข ซึ่งได้เปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป ส่งผลงานคลิปสั้นเข้าประกวดในหัวข้อ ลดอุบัติเหตุทางถนน ทุกคนช่วยได้ เพื่อมุ่งหวังสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนและชุมชนในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนการปลูกฝังวินัยจราจรในเด็กและเยาวชน
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีทางข้าม รวมทั้งหมด 3,280 จุด ซึ่งเป็นทางข้ามที่มีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร รวมจำนวน 1,675 จุด แบ่งเป็น ทางข้ามที่ใช้จังหวะสัญญาณไฟจราจรทางแยกในการข้ามถนน จำนวน 538 จุด ทางข้ามที่ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรชนิดกดปุ่ม จำนวน 223 จุด และทางข้ามที่ติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบเตือนทางข้าม จำนวน 914 จุด นอกจากนี้ ในปี 2565 จะดำเนินการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรเพิ่มเติม จำนวน 138 แห่ง แบ่งเป็น ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางแยกบริเวณที่มีทางข้าม จำนวน 2 จุด ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม จำนวน 86 จุด ติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบเตือนทางข้าม จำนวน 50 จุด ส่วนปี 2566 จะดำเนินการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรเพิ่มเติม จำนวน 62 จุด แบ่งเป็น ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางแยกบริเวณที่มีทางข้าม จำนวน 1 แห่ง ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม จำนวน 11 จุด ติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบเตือนทางข้าม จำนวน 50 จุด
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้พิจารณาหารือร่วมกันถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ กรณีอุบัติเหตุปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ทางข้าม โดยเน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การจำกัดความเร็วบริเวณทางข้ามในแหล่งชุมชน หน้าโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่อื่นๆ การสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัว กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ส่งอาหาร ส่งพัสดุ กลุ่มผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ กลุ่มผู้ขับรถโดยสารประจำทาง ปลูกฝังระเบียบวินัยจราจรแก่เด็กและเยาวชน ประชาชนสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในชุมชน ห้างสรรพสินค้าและผ่านสื่อตามช่องทางต่างๆ รณรงค์การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน การแก้ไขปัญหาและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางข้ามอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครถือว่าเป็นเมืองใหญ่ ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาจราจรและลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม เดินหน้าขับเคลื่อนมุ่งไปสู่เมืองเล็ก เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต