In Bangkok

กทม.เตรียมตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 



กรุงเทพฯ-ปลัดกทม.เตรียมความพร้อมการจัดตั้งและดำเนินการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

(26 เม.ย.65) เวลา 09.00 น. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดตั้งและดำเนินการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักงานเขต 50 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

ในที่ประชุมได้รายงานถึงความเป็นมาของการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 สำนักพัฒนาสังคมได้รับการประสานจากสำนักอนามัย เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 มีผลใช้บังคับในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 มีบทบัญญัติรวมทั้งสิ้น 186 มาตรา แบ่งออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาค 1 การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด ภาค 2 การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด ภาค 3 บทกำหนดโทษ ซึ่งวันนี้เป็นการหารือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ภาค 2 การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1.การบำบัดรักษา เป็นภารกิจของสำนักอนามัย โดยสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด 2.การฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด เป็นภารกิจของสำนักพัฒนาสังคมและสำนักงานเขต 50 เขต อยู่ในมาตราต่างๆ ดังนี้ มาตรา 108 การฟื้นฟูสภาพทางสังคม หมายความว่า การกระทำใดๆ อันเป็นการสงเคราะห์ สนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา อาชีพ ตลอดจนการติดตามดูแลช่วยเหลือจนสามารถกลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม หมายความว่า สถานที่ทำการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการรักษา การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟู มาตรา 118 กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (อยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข) มาตรา 120 ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ 1.ให้คำแนะนำ ปรึกษา และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา 2.ให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม รวมทั้งการสนับสนุนให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว 3.ช่วยเหลือเกี่ยวกับอาชีพ การศึกษา เงินทุนสงเคราะห์ และให้การสงเคราะห์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ 4.ส่งเสริมและสนับสนุนให้นายจ้างหรือสถานประกอบการ รับเข้าทำงาน ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดรักษาและติดตามดูแลและให้ความช่วยเหลือ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ป.ป.ส. 

สำหรับ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดตั้งฟื้นฟูสภาพทางสังคม พ.ศ. .... กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยคำแนะนำของคณะทำงานอำนวยการฟื้นฟูสภาพทางสังคมกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในกรุงเทพมหานคร โดยใช้ที่ทำการของหน่วยงานด้านการพัฒนาสังคมหรือหน่วยงานด้านการปกครองในกรุงเทพมหานครหรือสถานที่ที่อื่นใดที่เหมาะสมในกรุงเทพมหานคร โดยจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้มีจำนวนครอบคลุมพื้นที่ระดับเขต ส่วน (ร่าง) กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการฟื้นฟูสภาพทางสังคม และการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา พ.ศ. ... กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดให้มีคณะทำงานอำนวยการฟื้นฟูสภาพทางสังคมกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน รองปลัดกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบสำนักพัฒนาสังคมเป็นรองประธาน หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนเป็นกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ และหัวหน้าสำนักงานคณะทำงานอำนวยการการฟื้นฟูสภาพทางสังคมกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ 1.ดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพมหานครมีการสนับสนุน ความช่วยเหลือสงเคราะห์ ไปยังศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมระดับต่างๆ ในพื้นที่ ตามที่ได้รับการจัดสรรตามทางที่กำหนด 2.รวบรวมการสนับสนุน ความช่วยเหลือสงเคราะห์จากภาคธุรกิจ เอกชน สมาคมองค์กรชุมชนต่างๆ ที่สามารถให้การสนับสนุนช่วยเหลือแก่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษา รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือความตกลง เพื่อแจ้งไปยังศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมระดับต่างๆ ในพื้นที่ 3.กำหนดช่องทางการสนับสนุนช่วยเหลือสงเคราะห์จากองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กร ชุมชน หรือองค์กรอื่น ไปยังศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมระดับต่างๆ ในพื้นที่ 4.จัดให้มีการสนับสนุน ความช่วยเหลือสงเคราะห์อย่างใดๆ แก่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อสามารถคืนสู่สังคมได้ตามปกติ 5.กำกับติดตาม ผลการดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมระดับต่างๆ ในพื้นที่ และกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น 

ทั้งนี้ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย และสำนักงานเขต 50 เขต เตรียมพร้อมจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม การจัดอบรมให้ความรู้และพัฒนาให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญในการติดตามช่วยเหลือผู้ติดยาและผู้ผ่านการบำบัดรักษา พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการฝึกอบรมด้านทักษะอาชีพพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดหางานที่เหมาะสมในสถานประกอบการต่างๆ เพื่อปิดช่องว่างทางสังคม ฟื้นฟูสภาพจิตใจ หาแนวทางช่วยเหลือ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ผู้ติดยาเสพติดและผู้ผ่านการบำบัดรักษา ให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคม