In Bangkok
กทม.ถอดบทเรียนแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปรับปรุงแผนปฏิบัติการ

กรุงเทพฯ-ปลัดกรุงเทพมหานคร ประชุมคกก.ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ้นละอองขนาดเล็ก และได้ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมปรับปรุงแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ต่อเนื่อง
(27 เม.ย.65) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และระบบทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ในที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งประสบปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ติดตามตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีสถานีและเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 แบ่งเป็น บริเวณริมถนน จำนวน 37 แห่ง บริเวณพื้นที่ทั่วไป จำนวน 13 แห่ง และในพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 แห่ง รวม 70 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจากการติดตามตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ตรวจวัดได้ 7-95 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และสูงเกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ดังนี้ วันที่ 21-24 ธันวาคม 2564 มีค่าสูงสุด เท่ากับ 95 มคก./ลบ.ม. วันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2565 มีค่าสูงสุด เท่ากับ 80 มคก./ลบ.ม. วันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2565 มีค่าสูงสุด เท่ากับ 78 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ เรื่อง การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2565 โดยประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูหนาวและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อน ในวันที่ 2 มีนาคม 2565 ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา และกรมควบคุมมลพิษได้แจ้งสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกลับสู่ภาวะปกติ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยมีค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ย และจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานลดลง ทั้งนี้ ในวันที่ 9 เมษายน 2565 ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าสูงสุด เท่ากับ 116 มคก./ลบ.ม.
สำหรับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2565 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ในภาพรวมของกรุงเทพมหานครตามแผนปฏิบัติการฯ ดังนี้ 1.ควบคุมยานพาหนะ ตั้งจุดตรวจวัดตรวจจับรถควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกรุงเทพมหานคร (สสล.และเขต) จำนวน 118,060 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้ จำนวน 958 คัน (ร้อยละ 0.81) ตรวจรถราชการในสังกัด กทม. ครั้งที่ 1/2565 จำนวน 4,292 คัน ไม่ผ่านมาตรฐาน จำนวน 20 คัน (ร้อยละ 0.47) และกองโรงงานช่างกลได้จัดทำแผนและหน่วยบริการตรวจเช็คเครื่องยนต์ดีเซลให้กับหน่วยงานในสังกัด จำนวน 1,273 คัน ไม่ผ่านมาตรฐาน จำนวน 13 คัน (ร้อยละ 5.73) 2.สำนักงานเขตได้ควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่นขนาดเล็ก 3.ควบคุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากการก่อสร้าง จำนวน 200 โครงการ 4.ควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่งทุกประเภท โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานขอความร่วมมือและบูรณาการการทำงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลและสำนักงานเขตให้กำชับ ควบคุม กำกับดูแล ไม่ให้เกิดการเผาในที่โล่งทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน และได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล ขอความร่วมมือเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ติดตามจำนวนจุดความร้อน และเข้มงวดควบคุม กำกับดูแล ไม่ให้เกิดการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่ป่า ชุมชนเมือง พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ริมทาง 5.ควบคุมเตาเผาศพและฌาปนสถาน สำนักอนามัยและสำนักงานเขตได้ประสานความร่วมมือฌาปนสถาน เพื่อลดมลพิษในพื้นที่กรุงเทพมหานครทุกแห่ง จำนวน 310 แห่ง 6.การดูแลสุขภาพอนามัยประชาชน และลดผลกระทบในโรงเรียน โดยสำนักการแพทย์เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ จำนวน 5 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และเฝ้าระวังภัยสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยง ตามมาตรการด้านสุขภาพ ติด งด ลด ย้ำ สำนักการศึกษาและโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ดูแลป้องกันด้วย 10 มาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ในสถานศึกษา จำนวน 437 โรงเรียน 7.ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งรายงานและแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพในสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน ผ่านช่องทางต่าง ๆ ประกอบด้วย เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com www.prbangkok.com เฟซบุ๊ก : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, เพจเฟซบุ๊ก : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ แอปพลิเคชัน : AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ และจอป้ายจราจรอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกลุ่มไลน์ 8.ประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือประชาชนมีส่วนร่วมในการลดฝุ่นละออง PM2.5 ภายใต้แนวทาง ลดฝุ่นคุณก็ทำได้ 9.จัดกิจกรรม Big cleaning Day ล้างถนนลดฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดย Kick off กิจกรรม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 พร้อมกันเวลา 21.00 น. ดำเนินการล้างถนนฉีดพ่นใบไม้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต และสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน
ส่วนในระยะยาว กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการ ดังนี้ 1.สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขต เพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ 7.48 ตารางเมตร/คน 2.สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองได้ทบทวนและกำหนดมาตรการทางผังเมืองเพื่อช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศในเขตเมือง 3.ผลักดันรถราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครใหม่ให้เป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงมลพิษต่ำ รวมทั้งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประชาชน โดยความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง เปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สวนเบญจกิติ ในส่วนของแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ได้ดำเนินการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2565 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยร่างแผนปฏิบัติการฯ ได้รับการทบทวนและปรับปรุงแนวทางการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเดือนกันยายน 2564 และคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการฯ และเวียนแจ้งหน่วยงานเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ในเดือนตุลาคม 2564 และได้ยกระดับมาตรการระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในภาวะปกติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2565
ทั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นทุกปี อาจส่งผลต่อการสะสมฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งเริ่มมีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานเร็วขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพื่อให้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานมีแผนปฏิบัติการฯ และเตรียมพร้อมรับมือ/ตอบโต้กับสถานการณ์ได้เร็วขึ้น จึงเสนอขอปรับระยะเวลาของแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM25 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ดังนี้ เดือนมิถุนายน 2565 กรุงเทพมหานครเวียน (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ /แนวทาง/มาตรการ/กิจกรรม ให้คณะกรรมการฯ และหน่วยงานผู้รับผิดชอบพิจารณา เดือนกรกฎาคม 2565 กรุงเทพมหานครปรับแก้ไข (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เดือนสิงหาคม 2565 ประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่างแนวทาง/มาตรการ/กิจกรรมการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ เดือนกันยายน 2565 เวียนแจ้งแผนปฏิบัติการฯ ให้คณะกรรมการฯ และหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครประสบปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นมา กรุงเทพมหานครขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน ตลอดจนจัดทำแผนปฏิบัติการฯ เพื่อบูรณาการความร่วมมือดำเนินภารกิจ กิจกรรม และยกระดับเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการเมื่อปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นในระดับ 2 และระดับ 3 ตามแผนปฏิบัติการฯ มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครดีขึ้นมาตามลำดับ สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินการ ปี 2565 พร้อมกับการถอดบทเรียนของการดำเนินงานที่ผ่านมา ปัญหาอุปสรรคหรือข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2566 รวมทั้งเสนอปรับระยะเวลาของแผนปฏิบัติการฯ ให้ประกาศใช้แผนแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2566 ภายในเดือนกันยายน สามารถดำเนินการตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
-----