In Bangkok
กทม.แจงแนวทางจัดเก็บรวบรวมมูลฝอย ไม่ให้มีขยะตกค้าง

กรุงเทพฯ-สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตจตุจักร กทม.แจงแนวทางระบบจัดเก็บรวบรวมมูลฝอยไม่ให้มีขยะตกค้าง
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บขยะของ กทม. โดยระบุรถจัดเก็บขยะ กทม.จะเก็บขยะจากห้างสรรพสินค้าเป็นประจำทุกวัน ขณะที่การจัดเก็บขยะจากบ้านเรือนประชาชนยังล่าช้าว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการจัดระบบการเก็บรวบรวมมูลฝอยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ให้มีขยะตกค้าง โดยจัดหารถจัดเก็บขยะอย่างเพียงพอกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ปัจจุบันมีรถเก็บขยะ จำนวน 2,178 คัน พนักงานเก็บขยะ จำนวน 10,957 คน โดยจัดให้มีเส้นทางบริการเก็บขนมูลฝอยทั่วไปครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต 1,569 ตร.กม. จำนวน 1,800 เส้นทาง และจัดรถเข้าจัดเก็บเป็นประจำ โดยผู้อำนวยการเขตได้ออกประกาศสำนักงานเขต เพื่อกำหนดวัน เวลาเก็บมูลฝอย และแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ทราบ ประกอบด้วย ถนนสายหลัก สายรอง กำหนดทิ้งขยะเป็นที่เก็บเป็นเวลา โดยผู้อำนวยการเขตออกประกาศและแจ้งประชาชนและผู้ค้าริมถนนทราบโดยทั่วกัน โดยทั่วไปนัดทิ้งเวลา 18.00 - 03.00 น. เก็บให้เสร็จก่อนเวลา 05.00 น. ของทุกวัน และงดเก็บขยะช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากก่อให้เกิดปัญหาจราจรรวมทั้งหลีกเลี่ยงการตั้งถังขยะบนทางเท้า เพราะก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นถังและเป็นการสะสมขยะปริมาณมากบนทางเท้าในช่วงกลางวัน ซึ่งมาจากการทิ้งขยะตลอดเวลาทั้งขยะชิ้นใหญ่ ขยะชิ้นเล็ก และขยะนอกพื้นที่ ทำให้เกิดการสะสมเชื้อโรค การสร้างทัศนอุจาด สร้างความสกปรก เกิดมลทัศน์ทางสายตา ซึ่งการเข้าจัดเก็บในช่วงกลางวันทำได้ยาก เนื่องจากก่อปัญหาการจราจร ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง ประกอบกับประชาชน บริษัท ห้างร้านที่มีอาคารที่พักตั้งอยู่ริมทางเท้าไม่ประสงค์ให้ตั้งถังขยะ หรือจุดพักขยะหน้าบ้านของตน เพราะก่อให้เกิดความสกปรกและสะสมเชื้อโรค จึงยินดีทิ้งขยะตามเวลาที่กำหนด
สำหรับตรอก ซอย ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร ได้ตั้งถังรองรับขยะอย่างเพียงพอกับปริมาณขยะ โดยผู้อำนวยการเขตพิจารณาออกประกาศกำหนดวันทิ้ง วันเก็บ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปริมาณขยะ ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับความเพียงพอของบุคลากรแต่ละสำนักงานเขตและอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ รถขยะสามารถเข้าจัดเก็บได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดปัญหาจราจร โดยปกติเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอย อัตรา 20 บาท/หลังคาเรือน ส่วนอาคารและสถานที่ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณขยะมากกว่า 2 ลูกบาศก์เมตร/วัน กฎหมายกำหนดให้ต้องมีที่พักขยะ ซึ่งสามารถเก็บขยะสามารถพักขยะไว้ได้ไม่น้อยกว่า 3 วัน รถเก็บขยะต้องเข้าถึงได้สะดวก สามารถเข้าจัดเก็บได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจร โดยผู้อำนวยการเขตออกประกาศกำหนดวันเก็บขยะ ซึ่งต้องจัดเก็บให้หมด เนื่องจากกรุงเทพมหานครมิได้มอบหมายให้ภาคเอกชนเข้าจัดเก็บขยะแทน หากมีปริมาณขยะเกิน 1 เที่ยว จะต้องเพิ่มจำนวนเที่ยวเก็บ โดยคิดค่าธรรมเนียมตามปริมาณขยะที่จัดเก็บได้เฉลี่ย/วัน ในอัตรา 2,000 บาท/ลูกบาศก์เมตร/วัน อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร ได้เพิ่มประสิทธิภาพการทิ้งขยะเป็นที่เก็บเป็นเวลาในถนนสายหลักและถนนสายรอง โดยมุ่งเน้นการทิ้งขยะช่วงเวลากลางคืน เพื่อความสะอาดของเมืองและจัดหารถเก็บขนมูลฝอยให้เพียงพอและเหมาะสมกับปริมาณขยะ
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตจตุจักร ได้กำหนดแนวทางและระยะเวลาให้บริการจัดเก็บขยะในพื้นที่ โดยขยะทั่วไปตามบ้านเรือนประชาชน ตามตรอกซอยต่าง ๆ ชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่ จัดเก็บ 2 รอบเวลา คือ ระหว่างเวลา 20.00 - 04.00 น และระหว่างเวลา 04.00 - 12.00 น. (รถเก็บขนมูลฝอย 1 คันใช้รถ 2 รอบเวลา ต่างพื้นที่) โดยจัดเก็บขยะวันเว้นวัน หรือวันเว้นสองวัน แล้วแต่ปริมาณขยะ โดยใช้รถเก็บขนมูลฝอยชนิดอัด ขนาด 2 ตัน และรถเก็บขยะมูลฝอยชนิดอัด ขนาด 5 ตัน ตามสภาพพื้นที่ สำหรับถนนสายหลัก-สายรอง ได้กำหนดเวลาทิ้งเวลาเก็บกับประชาชนที่อยู่ริมถนนสายหลัก-สายรอง ให้นำขยะมาทิ้งได้ตั้งแต่เวลา 18.00 - 05.00 น. โดยจัดเก็บทุกวัน นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการทิ้งขยะนอกเวลาการจัดเก็บ สำนักงานเขตจตุจักร ได้จัดรถเก็บขนมูลฝอยเข้าจัดเก็บขยะในถนนสายหลัก-สายรองในพื้นที่ 2 รอบเวลา คือ ระหว่างเวลา 07.00 - 09.00 น. และระหว่างเวลา 13.00-14.00 น. ของทุกวัน สำหรับขยะทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ตลาด และโรงแรมในพื้นที่ จะใช้รถเก็บขนมูลฝอยประเภทคอมแพคเตอร์ ขนาด 10 ตัน หรือรถเก็บขนมูลฝอยประเภทคอนเทนเนอร์ ขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร โดยจัดเก็บขยะทุกวัน หรือวันเว้นวัน ตามปริมาณขยะ