In Bangkok

กทม.สั่งเทศกิจห้ามเรียกรับส่วยจากผู้ค้า  สั่งเดินหน้าจัดระเบียบทางเท้ากรุงเทพฯ



กรุงเทพฯ-สำนักงานเขตปทุมวัน สำนักเทศกิจ กทม.กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจห้ามเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ค้า - เดินหน้าจัดระเบียบทางเท้าในกรุงเทพฯ

นางมาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. กล่าวกรณีมีผู้วิจารณ์เทศกิจเรียกรับเงินจากผู้ค้า อีกทั้งมีการตั้งกลุ่มไลน์ของเจ้าหน้าที่เทศกิจและผู้ค้าย่านเพลินจิต เพื่อแจ้งเตือนการตรวจพื้นที่ล่วงหน้าว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตรากวดขันบริเวณถนนเพลินจิตห้ามฝ่าฝืนทำการค้าบนทางเท้าอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้จับกุมเปรียบเทียบปรับจำนวนหลายราย โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบเจ้าหน้าที่เทศกิจของเขตปทุมวันอยู่ในไลน์กลุ่มผู้ค้าย่านเพลินจิต อย่างไรก็ตาม ได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจให้ประพฤติตนอยู่ในความเหมาะสมและห้ามไม่ให้คบหากับบุคคลภายนอก ผู้ค้าที่ทำผิดกฎหมาย หรือพูดเล่นกับประชาชน เพราะอาจสร้างความเข้าใจผิดในการปฏิบัติหน้าที่ โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะต้องทำงานเป็นคู่ เพื่อมิให้ถูกเข้าใจผิด กล่าวหาโดยไร้หลักฐาน มีการถ่ายภาพยืนยัน เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการเข้าตักเตือน และแจ้งเปรียบเทียบปรับทุกครั้ง ตลอดจนได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจห้ามเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ค้า หากไม่ถือปฏิบัติจะถูกพิจารณาลงโทษและดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะทำงานและคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย เพื่อร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายและจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ โดยมีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน เช่น กทม. กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ฝ่ายความมั่นคง สื่อมวลชน ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี องค์กรต่าง ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งมีหลักเกณฑ์สำคัญ ได้แก่ ด้านพื้นที่ทำการค้า กำหนดให้ความกว้างของทางเท้าเมื่อจัดแผงค้าแล้ว ต้องมีพื้นที่ว่างให้ประชาชนสัญจรไม่น้อยกว่า 2 เมตร ไม่อยู่ในรัศมี 150 เมตร จากสถานที่สำคัญและต้องได้รับความเห็นชอบโดยส่วนใหญ่จากประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย ผู้เดินทางเท้า เจ้าของอาคาร ผู้อาศัย และผู้มีสถานที่ทำงานอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่จะกำหนดให้ผู้ค้าทำการค้าขายได้ สำหรับการจัดวางแผงค้า ได้กำหนดให้แผงค้าต้องมีขนาดไม่เกิน 2 ตารางเมตร ผู้ค้า 1 ราย มีแผงค้าได้แผงเดียว ให้เว้นระยะห่าง 5 เมตร ทุกระยะ 10 แผงค้า เพื่อเป็นทางเข้าออกและทางฉุกเฉิน และห้ามจัดผังแผงค้าบริเวณสาธารณูปโภคต่าง ๆ ช่องทางเข้าออกอาคารที่ประชาชนใช้สอย ทางข้ามถนนที่มีทางม้าลาย ห้องสุขาสาธารณะ จุดจ่ายน้ำดับเพลิง เป็นต้น ส่วนการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำการค้า จะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อย และคัดเลือกผู้ทำการค้า โดยเปิดรับลงทะเบียน ตรวจสอบคุณสมบัติ หากแผงค้ามีจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ลงทะเบียน ให้จับสลากและดำเนินการโดยวิธีเปิดเผย กำหนดเงื่อนไขการทำการค้า โดยให้ทำการค้าได้คราวละ 1 ปี เมื่อครบระยะเวลาแล้วให้ทบทวนความเหมาะสมและคัดเลือกใหม่ เพื่อป้องกันการยึดติดพื้นที่ สร้างความเสมอภาคเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ทั้งยังได้กำหนดข้อปฏิบัติของผู้ค้า เพื่อความสะอาดเรียบร้อย ถูกสุขลักษณะอนามัยและสุขาภิบาลอาหาร โดยผู้ค้าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการจำหน่ายสินค้าที่ กทม. กำหนด และข้อปฏิบัติอื่น ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองไม่ให้กระทบสิทธิผู้บริโภคและผู้ใช้ทางเท้าอย่างเคร่งครัด สำหรับการกำหนดมาตรการควบคุมและบทลงโทษผู้ค้าแต่ละจุดทำการค้าที่ได้รับอนุญาต จะต้องคัดเลือกตัวแทนผู้ค้าไม่น้อยกว่าจุดละ 3 คน เพื่อควบคุมกำกับดูแลกันเองให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนที่กำหนด หากมีผู้ค้ารายใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ให้หยุดทำการค้า 1 เดือน และหากทำผิดซ้ำจะให้ยกเลิกการอนุญาตจุดทำการ

นอกจากนั้น ยังได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนและทางเท้า เพื่อส่งเสริมการค้า Street Food ให้เป็นอัตลักษณ์ของ กทม. มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม จูงใจให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยี่ยมชม ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการแล้ว เช่น ถนนข้าวสาร ถนนไกรสีห์ และอยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มเติม เช่น ย่านบางลำพู เขตพระนคร พื้นที่ต่อเนื่องของถนนตานี ถนนสิบสามห้าง ถนนรามบุตรี ถนนจักรพงษ์ บริเวณย่านวังหลัง เขตบางกอกน้อย เป็นต้น รวมทั้งได้ทบทวนจุดทำการค้าเดิม เสนอ บช.น. ให้ความเห็นชอบ ในฐานะเจ้าพนักงานจราจร ซึ่งได้รับความเห็นชอบแล้ว จำนวน 86 จุด มีผู้ค้าทำการค้าประมาณ 6,000 ราย นอกจากนี้ ยังกำชับให้ทุกเขตสำรวจตรวจสอบทางเท้า รวมถึงที่ว่างของเอกชนที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดเป็นสถานที่ทำการค้ารองรับผู้ค้าเพิ่มเติมต่อไป