In Bangkok

กทม.พร้อมเฝ้าระวังควบคุมโรคฝีดาษลิง เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจวิธีป้องกัน



กรุงเทพฯ-สำนักการแทพย์ กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังควบคุมโรคฝีดาษลิง - เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจวิธีป้องกันการแพร่กระจายโรค

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดจะพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้ทุกโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม. เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) หากพบผู้สงสัยติดเชื้อให้แยกกักตัวทันที รวมทั้งแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้ รพ. ในสังกัด ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันโรคของกรมควบคุมโรค หากพบผู้ป่วยติดเชื้อจะเร่งแยกกักตัวเฉพาะโรค เบื้องต้นได้กำหนดให้ รพ.สิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูลและควบคุมดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานข้อมูลให้สำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อวิเคราะห์และสรุปรายงานต่อผู้บริหารต่อไป

นอกจากนั้น ยังได้เน้นย้ำหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคแก่บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ตามมาตรการ Universal Prevention (UP) โดยให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยเฉพาะลิง และหนู หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงและสิ่งของของผู้ป่วย รวมถึงลมหายใจของผู้ป่วย หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ ใช้ผ้าปิดจมูกและปากเมื่อไปสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น เนื่องจากโรคฝีดาษเป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่ควรฉีดเฉพาะบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันทีและแยกกักตัว เพื่อมิให้ผู้ป่วยแพร่กระจายเชื้อ

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัย ได้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและสังเกตอาการผู้ป่วยในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โดยแจ้งให้ทุกศูนย์ฯ ทราบถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดและอาการของโรคฝีดาษลิง ที่ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอ หรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออก ซึ่งอาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต หากศูนย์ฯ พบผู้ป่วยสงสัยให้แจ้งศูนย์รับแจ้งข่าวของกองควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ทันที

อย่างไรก็ตาม แม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง แต่จะเพิ่มการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อฝีดาษลิง รวมทั้งการป้องกันตนเองโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์บ่อย ๆ ขณะเดียวกันควรเฝ้าระวังในคนที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ไนจีเรีย คองโก อังกฤษ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ หากมีอาการ เช่น มีไข้ มีตุ่ม ให้ไปพบแพทย์ใน รพ.ที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบ