In Bangkok

กทม.บูรณาการควบคุมลดผลกระทบบุหรี่ พร้อมสนับสนุนเขตปลอดบุหรี่50เขต



กรุงเทพฯ- สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย กทม.บูรณาการความร่วมมือควบคุมและลดผลกระทบจากบุหรี่ พร้อมสนับสนุนเขตปลอดบุหรี่ 50 เขต

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการควบคุมและลดผลกระทบจากบุหรี่ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ร่วมกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ คณะกรรมการดำเนินการโครงการเครือข่ายคลินิกฟ้าใส องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการเครือข่ายคลินิกฟ้าใส เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงที่เข้มแข็งระหว่างโรงพยาบาลและชุมชนในการให้บริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทย โดยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเลิกบุหรี่ พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริการเลิกบุหรี่ที่มีมาตรฐาน เป็นต้นแบบของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย โดยเริ่มการรักษาตั้งแต่ในระดับชุมชน ด้วยการเก็บข้อมูลการให้บริการเลิกบุหรี่ทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลของบริการเลิกบุหรี่ในระดับชาติ กระตุ้นให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการให้บริการเลิกบุหรี่ และการรักษาโรคติดบุหรี่ทั่วประเทศ รวมทั้งกำหนดให้พื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลและสถานที่ราชการถือเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% ขณะเดียวกันคลินิกฟ้าใสในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ยังได้ผลักดันให้ประชาชนเลิกบุหรี่แบบบูรณาการ โดยมีบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และนักจิตวิทยา ให้บริการในรูปแบบ One-Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วยและเป็นแรงจูงใจในการเข้ารับบริการ  

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดแผนปฏิบัติการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2563 - 2565 และจัดทำแผนฯ ต่อเนื่องในปี พ.ศ.2566 - 2570 โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้จัดสถานที่สาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแลให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ขณะเดียวกันสำนักงานเขต 50 เขต ได้แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประกอบด้วย ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจพื้นที่และบังคับใช้กฎหมายเขตปลอดบุหรี่ โดยสำนักอนามัย กทม. ได้ผลิตสื่อสัญลักษณ์เครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ให้สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการจัดเขตปลอดบุหรี่ ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานเขตปลอดบุหรี่ให้สำนักงานเขต เพื่อจัดกิจกรรมป้องกันนักสูบหน้าใหม่ รวมทั้งสนับสนุนให้ข้าราชการและบุคลากรเลิกสูบบุหรี่ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อจัดเขตปลอดบุหรี่และจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดกิจกรรมโรงเรียนปลอดบุหรี่ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั้งในและนอกสังกัด กทม. สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ เครือข่ายยุวทัศน์ เพื่อเฝ้าระวังและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า สำนักพระพุทธศาสนาเพื่อดำเนินการวัดปลอดบุหรี่ โดยปัจจุบันวัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ติดประกาศเป็นเขตปลอดบุหรี่ครบทุกวัด

ขณะเดียวกันสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ชุมชน สถานศึกษา และสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ สนับสนุนส่งเสริมพลังให้อาสาสมัคร กทม.เฝ้าระวังภัยและยาเสพติด และอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. อาสาสมัครในสถานศึกษา แกนนำสมาชิกชมรม TO BE NUMER ONE เป็นเครือข่ายดำเนินกิจกรรมเฝ้าระวัง ค้นหา สร้างการรับรู้ ให้คำปรึกษา และส่งต่อด้านการป้องกันและการบำบัดผู้สูบบุหรี่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งสำนักอนามัย กทม.ได้จัดให้มีบริการคลินิกเลิกบุหรี่สำหรับประชาชนที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง จัดบริการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่และบำบัดรักษาด้วยยา เช่น หมากฝรั่งนิโคติน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งเชื่อมระบบการส่งต่อผู้ป่วยกับภาคี Quitline 1600 ตลอดจนจัดกิจกรรมลด ละ เลิกบุหรี่สำหรับบุคลากร กทม. เพื่อสร้างคนต้นแบบในการเลิกยาสูบ ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง หากไม่สะดวกรับบริการที่สถานพยาบาล สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1600 ซึ่งจะประสานข้อมูลร่วมกันเมื่อผู้ป่วยที่รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ต้องการรับยาช่วยเลิกบุหรี่ จะประสานส่งต่อไปศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อดูแลและติดตามผลการรักษาร่วมกัน หากผู้ป่วยมารับบริการที่สถานพยาบาล ประสงค์รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ จะประสานส่งต่อ เพื่อให้ได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง