In Bangkok

กทม.เน้นย้ำมาตรการป้องกันเชื้อโควิด19  ในสถานศึกษาและการจัดทัศนศึกษา



 กรุงเทพฯ-สำนักงานเขตบางเขนและสำนักการศึกษากทม.เน้นย้ำมาตรการป้องกันโควิด 19 ในสถานศึกษาและการจัดทัศนศึกษา

นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการเขตบางเขน กทม. กล่าวกรณีมีข่าวเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ย่านถนนพหลโยธินติดเชื้อโควิด 19 ภายหลังโรงเรียนพาเด็กนักเรียนไปทัศนศึกษาที่สวนสนุกว่า จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.65 โรงเรียนสังกัด กทม. แห่งหนึ่งในพื้นที่เขตบางเขนจัดกิจกรรมทัศนศึกษาที่สวนสนุก ดรีมเวิลด์ จังหวัดปทุมธานี โดยมีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - มัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าร่วมกิจกรรม ส่วนเหตุผลที่จัดกิจกรรมในวันดังกล่าว โรงเรียนมีกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งเดือน ประกอบกับในวันนั้นที่สวนสนุกไม่มีนักเรียนโรงเรียนอื่นไปทัศนศึกษา จึงทำให้ลดความแออัดของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ขณะเดียวกันนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทัศนศึกษา ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองแล้ว และก่อนเดินทาง ครูแต่ละสายชั้นได้สำรวจรายงานการติดเชื้อโควิด 19 ของนักเรียน หากพบว่านักเรียนคนใดมีความเสี่ยงจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเดินทาง อย่างไรก็ตาม หลังเดินทางไปทัศนศึกษา ได้รับรายงานจากครูประจำชั้น ป.5 มีนักเรียน 1 ราย มีข้อมูลเพื่อนบ้านติดเชื้อโควิด 19 จึงได้ตรวจ ATK พบว่าติดเชื้อ โรงเรียนจึงให้เข้ารับการรักษา ส่วนนักเรียนที่เดินทางด้วยรถคันเดียวกันได้แจ้งผู้ปกครองให้นักเรียนเฝ้าระวังตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้ตรวจ ATK ทันที โดยนักเรียนคนอื่นที่ร่วมเดินทางในรถคันเดียวกันยังไม่มีรายงานการติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มเติมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโรงเรียนได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ประกอบด้วย 1) Distancing เว้นระยะห่าง 2) Mask wearing สวมหน้ากากอนามัย 3) Hand washing ล้างมือ 4) Testing คัดกรองวัดไข้ 5) Reducing ลดการแออัด 6) Cleaning ทำความสะอาด และข้อกำหนด 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ประกอบด้วย 1) Self - care ดูแลตนเอง 2) Spoon ใช้ช้อนกลางส่วนตัว 3) Eating รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ 4) Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน 5) Check สำรวจตรวจสอบ 6) Quarantine กักกันตัวเอง รวมทั้งแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ประกอบด้วย 1) สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน TSC+ และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID 2) ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble จัดนักเรียนเว้นระยะห่างในห้องเรียน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่ม 3) จัดระบบการให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4) จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาด คุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะ 5) จัดให้มี School Isolation แผนเผชิญเหตุ และมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด 6) ควบคุมดูแลการเดินทางเข้าและออกจากสถานศึกษา (Seal Route) ทั้งกรณีรถรับ - ส่ง นักเรียน รถส่วนบุคคล และพาหนะโดยสารสาธารณะ และ 7) จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา นอกจากนี้ ก่อนนักเรียนจะเดินทางเข้ามาในโรงเรียน จะมีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิ จุดล้างมือก่อนขึ้นอาคารเรียน ให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง และหมั่นทำความสะอาดในจุดที่ใช้บริการร่วมกัน ติดตั้งแผงฉากกั้นสำหรับโต๊ะรับประทานอาหาร และจัดห้องเรียนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

สำหรับนักเรียนที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถเข้าเรียนได้ตามปกติและปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 อย่างเคร่งครัด กรณีนักเรียน เป็นผู้ติดเชื้อให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ โดยเข้ารับการรักษาทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล รักษาตัวจนหาย หรือครบระยะเวลาการพักฟื้น หรือกักตัวที่บ้านตามคำสั่งแพทย์ และให้ครูประจำชั้นรายงานนักเรียนที่ติดโควิด 19 ในระบบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลติดต่อผู้ปกครอง หรือหน่วยงานบริการสาธารณสุข 24 ทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และเปิดเรียนตามปกติ จัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีอาการ

นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษา ได้จัดประชุมหัวหน้าฝ่ายการศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อเน้นย้ำให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้ง 437 โรงเรียน ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตลอดจนมีมาตรการควบคุมดูแลการเดินทางไป-กลับของนักเรียนให้มีความปลอดภัยและกำชับนักเรียนให้สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในโรงเรียน ในระหว่างเดินทางกลับบ้าน รวมทั้งขณะโดยสารรถสาธารณะ งดเว้นการสนทนาระหว่างกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย นอกจากนั้น ยังได้ประสานผู้ปกครองให้ตรวจคัดกรองบุตรหลานก่อนพามาโรงเรียน และก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนนอกห้องเรียน หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม หรืออาการอื่นใด ให้นักเรียนหยุดเรียน เพื่อเฝ้าดูอาการที่บ้าน หรือพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคเพิ่มขึ้นและลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงเรียน รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ปกครองแจ้งข้อมูลการเจ็บป่วยของนักเรียนให้โรงเรียนทราบ