In Bangkok

คชก.กทม.พิจารณาEIAยึดตามกฎหมาย 'โครงการ125สาธร'หลังศาลปค.รับฟ้อง



คชก.กทม.ไม่ผ่านEIA โครงการ 125 Sathorn ตามหลักวิชาการของกฎหมายด้วยความโปร่งใส

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีตรวจสอบความโปร่งใสการอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ 125 Sathorn พร้อมตั้งข้อสังเกตการอนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารชุดขนาดใหญ่โครงการอื่น ๆ ของ กทม. มีการวางแผนจัดบริการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่เพียงพอหรือไม่ว่า โครงการ 125 SATHORN ตั้งอยู่ที่ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร ได้เสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 21 ม.ค.64 และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) เมื่อวันที่ 24 ก.พ.64 โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 เม.ย.64 ซึ่ง คชก.กทม. ได้พิจารณารายงาน EIA 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.64 และวันที่ 8 เม.ย.64 ในการพิจารณาของ คชก.กทม. ได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ร้องเรียน (อาคารชุด THE MET) เข้ามาชี้แจงในที่ประชุมด้วย โดยให้โครงการฯ นำประเด็นข้อห่วงกังวลทั้งหมดไปดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ซึ่ง คชก.กทม.เห็นว่ายังมีเหตุผลทางวิชาการและข้อกฎหมายที่ยังไม่เพียงพอ จึงยังไม่ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการ 125 สาทร ดังนั้น โครงการฯ จึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะนำประเด็น หรือหัวข้อที่ คชก.กทม. กำหนดไปแก้ไขเพิ่มเติมและเสนอให้ คชก.กทม. อีกครั้งภายใน 180 วัน ต่อมาโครงการฯ ได้นำเสนอรายงานที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วเมื่อวันที่ 7 ก.ค.64 คชก.กทม. จึงได้ประชุมพิจารณารายงานตามขั้นตอนของกฎหมาย ในวันที่ 22 ก.ค.64 และวันที่ 5 ส.ค.64 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ร้องเรียนและผู้ห่วงกังวล (อาคารชุด THE MET) เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม ซึ่ง คชก.กทม. ได้นำข้อร้องเรียนและข้อห่วงกังวลมาประกอบการพิจารณาในทุกประเด็น รวมทั้งให้โครงการฯ รับประเด็นข้อร้องเรียนและข้อห่วงกังวล รวมทั้งประเด็นความเห็นเพิ่มเติมของ คชก.กทม.ไปชี้แจง ปรับปรุง แก้ไข และกำหนดเป็นมาตรการให้ คชก.กทม. พิจารณาตามหลักวิชาการและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าโครงการฯ ได้จัดทำรายงาน EIA เป็นไปตามแนวทาง รายละเอียด และประเด็นที่ คชก.กทม. กำหนด ประกอบกับได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการชดเชยเยียวยาไว้อย่างครบถ้วนแล้ว จึงมีมติให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการ 125 SATHORN ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณารายงาน EIA โครงการ 125 SATHORN และโครงการอื่น ๆ ที่เสนอให้ คชก.กทม.พิจารณา เป็นไปตามหลักกฎหมายและหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องมาประกอบการให้ความเห็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความได้สัดส่วน และความจำเป็นในการใช้ดุลพินิจในเรื่องนั้น ๆ ไว้ด้วยแล้ว ซึ่ง คชก.กทม.ได้ดำเนินกระบวนการพิจารณารายงาน EIA ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า โครงการ 125 สาทร ได้ยื่นแจ้งก่อสร้างต่อสำนักการโยธา กทม. เมื่อวันที่ 25 ส.ค.64 เป็นอาคารสูง 36 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ชั้นลอย 1 ชั้น (2 ทาวเวอร์) เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย  สระว่ายน้ำ และจอดรถยนต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรสิ่งแวดล้อมถูกต้องเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 24 ส.ค.64 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการอนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จะต้องขออนุญาตหรือยื่นแจ้งก่อสร้าง ดัดแปลง ตามมาตรา 21 หรือ มาตรา 39 ทวิ แล้วแต่กรณี โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะพิจารณารายงาน EIA สำหรับอาคารที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานดังกล่าวเป็นเกณฑ์ด้วย

นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการสำนักเขตสาทร กทม. กล่าวว่า เมื่อโครงการฯ ได้รับการอนุมัติ พร้อมเริ่มต้นการก่อสร้างอาคาร สำนักงานเขตฯ จะประชุมร่วมกับผู้รับจ้างโครงการฯ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้รับจ้างโครงการฯ ได้ทราบถึงการปฏิบัติตามมาตรการติดตามรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด และระหว่างก่อสร้างจะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตฯ เข้าตรวจสอบการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง

นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. กล่าวว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จะระบุรายละเอียดของกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อนุญาตให้ดำเนินการได้ ซึ่งจะเป็นกิจกรรมหลักของแต่ละโซน รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย เพื่อให้บริการที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในโซนนั้น ๆ เช่น โซนที่กำหนดให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ (Central Business District) กิจกรรมหลักของโซน ได้แก่ สำนักงาน ธุรกิจการค้าและการบริการ ส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ที่อยู่อาศัยประเภทต่าง ๆ ตลาด โรงพยาบาล สถานศึกษา กิจกรรมนันทนาการ ฯลฯ ประกอบกับการกำหนดเงื่อนไขที่ตั้งเพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมบางประเภท เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการให้บริการของระบบโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละโซนด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงสามารถออกแบบอาคาร หรือโครงการให้มี Function ที่ตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยในโครงการ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านตัดผม การบริการจัดส่งพัสดุ พื้นที่นันทนาการ ฯลฯ ได้อยู่แล้ว ภายใต้ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของแต่โซน เนื่องจากหลักการของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน (Mix used) เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในโซนต่าง ๆ เป็นพื้นฐานในการวางผังเมือง