In News
'เฉลิมชัย'เดินสายตรวจราชการที่อุดรธานี ดูสถานที่จัดงานพืชสวนโลกและแจกสปก.

อุดรธานี-รมต.เฉลิมชัย ตรวจดูความพร้อมของสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเป็นเจ้าบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ก่อนหน้านี้ ที่สำนักงานชลประทานที่ 5 ได้จัดพิธีมอบ ส.ป.ก.4-01 ให้แก่เกษตรกร ในพื้นที่ จ.อุดรธานี ตั้งเป้าจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรจำนวน 1,760 ราย 1,760 แปลง เนื้อที่ประมาณ 12,500 ไร่ ภายในปีงบประมาณ 2565
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับฟังบรรยายสรุปการเตรียมจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (UDONTHANI International Horticultural Exhibition Expo 2026 ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่ง สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (International Association of Horticultural Producers : AIPH) ได้ประกาศการคัดเลือกอย่างเป็นทางการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
สำหรับพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ นี้ ตั้งอยู่ที่ ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี ริมถนนมิตรภาพ สายอุดรธานี-หนองคาย ห่างจากตัวเมืองอุดรฯ ประมาณ 4 ก.ม. เนื้อที่ประมาณ 1,030 ไร่ แบ่งเป็น พื้นน้ำ 400 ไร่ และพื้นดิน 630 ไร่ คาดว่าจะทำให้มีจำนวนผู้เข้าชมงานถึง 3.6 ล้านคน เป็นชาวไทยร้อยละ 70 และชาวต่างชาติร้อยละ 30 มีจำนวนประเทศที่เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ/องค์กร/สมาคม มีระยะเวลาจัดงานระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 (134 วัน) เมื่อเสร็จการจัดงานดังกล่าวแล้ว ทางจังหวัดอุดรธานีมีแผนจะอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าว เพื่อใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ ประเพณีวัฒนธรรม และศูนย์กลางกีฬานานาชาติ ของกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขงและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งการเป็นเจ้าภาพมหกรรมพืชสวนโลกในปี 2569 ครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก สามารถเพิ่มเงินสะพัดระหว่างการจัดงานได้ประมาณ 32,000 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ประมาณ 20,000 ล้านบาท และเกิดการสร้างงาน การจ้างงาน ประมาณ 81,000 อัตรา
"วันนี้มาดูพื้นที่ในการจัดเตรียมงาน ซึ่งจะต้องร่วมมือกับทางจังหวัดและหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดเตรียมงาน โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดเตรียมงบประมาณตั้งแต่ปี 2566 จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และประสานงานกับทางจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องงบประมาณ ความพร้อมของพื้นที่ และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ให้ถูกต้อง เพื่อให้งานพืชสวนโลกปี 2569 สมบูรณ์ที่สุด นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยถึงการปรับปรุงการจัดเตรียมงาน และหลังจากจัดงานเสร็จ ทางนายก อบจ.อุดรธานี จะมาช่วยดูแลพื้นที่ตรงนี้ที่จะกลายเป็นมรดกของคนอุดรธานีต่อไป" ดร.เฉลิมชัย กล่าว
รัฐมนตรี 'เฉลิมชัย' มอบ ส.ป.ก.4-01 ให้แก่เกษตรกร ในพื้นที่ จ.อุดรธานี
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ให้แก่เกษตรกร 10 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองอุดรธานี อ.ศรีธาตุ อ.หนองหาน อ.บ้านดุง อ.น้ำโสม อ.หนองวัวซอ อ.กุดจับ อ.เพ็ญ อ.บ้านผือ และ อ.พิบูลรักษ์ จำนวน 200 ราย 200 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,700 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้รับสิทธิ์ทำประโยชน์ในที่ดินได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และสิทธิจะได้รับความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ โดยมีนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ สำนักงานโครงการชลประทานที่ 5 ต.หมูม่น อ.เมือง จ.อุดรธานี
"การทำเกษตรกรรม ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือที่ดิน แม้ว่าประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมมีประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงที่ดิน และต้องการที่ดินทำกิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงได้จัดหาที่ดินและนำที่ดินนั้นมาพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ให้พร้อมและเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม ทั้งด้านแหล่งน้ำ สาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการครองชีพ โดยยึดหลักการทำงานเชิงเครือข่าย การบรูณาการแผนงานและงบประมาณเชิงรุกทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำที่ดินมาจัดสรรให้กับประชาชนผู้ยากจนและไม่มีที่ดินทำกิน ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ ประกอบกับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมที่มุ่งสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชาที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและนวัตกรรมการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตเกษตร เน้นสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยตลอดโซ่อุปทาน ตลอดจนการพัฒนาระบบตลาดให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลุดพ้นจากความยากจนอย่างถาวร" ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานี ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2,500,389 ไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1,793,331 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัด จำนวน 19 อำเภอ รวม 36 โครงการ โดยได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรแล้วทั้งสิ้น 86,047 ราย 103,895 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,105,064 ไร่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 มีแผนงานจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรจำนวน 1,760 ราย 1,760 แปลง เนื้อที่ประมาณ 12,500 ไร่