In News

สนง.ศาลยุติธรรม-กทม.ร่วมมือกันพัฒนา ระบบประเมินความเสี่ยง-ปล่อยชั่วคราว



กรุงเทพฯ-สนง.ศาลยุติธรรม - กทม. ร่วมมือกันพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม ขยายเครือข่ายผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

วันนี้ (30 มิถุนายน 2565) เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 7 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมและนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการประสานงานระหว่างศาลยุติธรรมกับกรุงเทพมหานคร ในโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม

นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากทุกปี ศาลใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยถึงร้อยละ 90 ของจำนวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่ยื่นต่อศาลแต่ในบางกรณีจะมีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีของศาลไม่เคยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวมาก่อนเพราะไม่ทราบถึงสิทธิในการขอปล่อยชั่วคราวว่าสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยไม่จำต้องเสนอหลักประกันมาพร้อมกับคำร้อง หรือเคยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ทำสัญญาประกันและวางหลักประกัน แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่สามารถหาหลักประกันมาเสนอหรือมาวางต่อศาลได้ เป็นเหตุให้ต้องถูกจองจำในระหว่างการพิจารณาคดี ย่อมถือได้ว่าผู้ต้องขังเหล่านี้เป็น “ผู้ที่ถูกขังโดยไม่จำเป็น” โดยประธานศาลฎีกา ได้เล็งเห็นว่า การลดการเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาและจำเลยไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไรก็สามารถเข้าถึงสิทธิในการปล่อยชั่วคราวได้อย่างเท่าเทียมกัน จึงได้กำหนดให้พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวและส่งเสริมการใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อลดการเรียกหลักประกันควบคู่กับการสร้างความปลอดภัยให้แก่สังคม โดยการนำมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ มาใช้ในการปล่อยชั่วคราว เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติในระหว่างการปล่อยชั่วคราว การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ที่สามารถตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทาง และการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว

ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรการกํากับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 กำหนดให้ศาลแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ศาลกำหนด ได้แก่ เป็นผู้สอดส่องดูแล รับรายงานตัว หรือให้คำปรึกษาผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ผู้ต้องหาหรือจำเลยในฐานะประชาชนของสังคมได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เพื่อที่จะขยายเครือข่ายผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว

ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชนเมือง มีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยการประสานความร่วมมือให้กรรมการชุมชนที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีภูมิลำเนาหรืออยู่อาศัยจริง ซึ่งอยู่ใกล้ชิดและน่าจะทราบความเป็นไปกับพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลย
ในชุมชน ทั้งยังเป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือ มีบทบาทในการช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยง และการช่วยสอดส่องกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้เป็นไปตามเงื่อนไขของศาล ตลอดจนในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีภูมิลำเนาห่างไกลที่ทำการศาล และมีฐานะยากจนไม่มีเงินพอเสียค่าพาหนะเดินทางมาศาลเพื่อมารายงานตัวบ่อยครั้ง คณะกรรมการชุมชนอาจช่วยเป็นผู้รับรายงานตัวแทนศาลได้ ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา และไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือไปก่อภัยอันตรายให้สังคม ได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกัน และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่สังคม

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมขอขอบคุณนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนกรุงเทพมหานครที่ได้ให้เกียรติมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมกันพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป