In Bangkok
กทม.บูรณาการทุกหน่วยงานให้เดินหน้า ป้องกันโรคไข้เลือดออกลดพาหะ

กรุงเทพฯ-กทม.บูรณาการทุกหน่วยงาน เดินหน้าเชิงรุกป้องกันโรคไข้เลือดออก ลดพาหะ เฝ้าระวังแหล่งเพาะพันธุ์ เน้นย้ำดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ
ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากการพยากรณ์แนวโน้มการเกิดโรคไข้เลือดออก พบว่า ปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยจะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยจำนวนผู้ป่วยตลอดทั้งปีประมาณ 95,000 ราย โดยช่วงไตรมาสแรกของปี จะมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 3,000 – 4,000 ราย ต่อเดือนและเริ่มสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคม จนสูงที่สุดในช่วง ฤดูฝนเดือนมิถุนายน - กันยายน ซึ่งอาจมีผู้ป่วย 10,000 – 16,000 รายต่อเดือน
ในด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศฝนตกในหลายพื้นที่ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และสำนักการศึกษา จึงกำหนดมาตรการดำเนินการ ดังนี้
1. จัดทำรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์โดยประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกได้ทาง เพจสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และเว็บไซต์กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
2. มีมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดและควบคุมโรคไข้เลือดออก ได้แก่ เฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายทุกพื้นที่เสี่ยงเช่น ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร ห้องชุดอาคารสูง สถานพยาบาล สถานศึกษา สถานประกอบการ และศาสนสถาน โดยภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามหลัก 5 ป. ได้แก่ ปิด - ปิดฝาภาชนะให้สนิท ปล่อย - ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เปลี่ยน - เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ ปรับ - ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปฏิบัติ – ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง รวมทั้งการสังเกตอาการสำคัญ ที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน
3. จัดหน่วยรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน โดยสร้างความตระหนักในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคติดต่อที่นำโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคชิคุนกุนยา แจกตะไคร้หอมโลชั่นทากันยุง แจกทรายอะเบท พร้อมให้คำแนะนำวิธีการใช้ทรายที่ถูกต้อง โดยสามารถขอรับได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง และฝ่ายสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง
4. การบริการพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายตัวแก่ กรณีมีผู้ป่วยจะดำเนินการโดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขต และหน่วยควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค กองควบคุมโรคติดต่อ หากกรณีไม่พบผู้ป่วย สามารถรับบริการได้เขตฯพื้นที่โดยมีการคิดอัตราค่าบริการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2565
ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ ได้มีคำแนะนำสำหรับประชาชน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูง ให้หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง ถ้าจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะยากลุ่มนี้อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้สำนักการแพทย์ยังให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย หากมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2-7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ในสถานศึกษาของกรุงเทพมหานคร สำนักการศึกษา ร่วมกับ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในเรื่อง โรคไข้เลือดออก การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน วิธีการป้องกันยุงกัด อาการที่ควรไปพบแพทย์และวิธีการดูแลตนเองเมื่อสงสัยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกหรือโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยมี อาสาสมัครสาธารณสุขในโรงเรียน (อสร.น้อย) ดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน รวมถึงจัดให้มีการรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในโรงเรียน เพื่อลดความหนาแน่นของยุงพาหะนำโรค และติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่น โดยหากพบผู้ป่วยให้รายงานเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคทันที