In Bangkok

กทม.เดินหน้า'ดุสิตโมเดล'นำร่องเชื่อมต่อ ดูแลรักษาผู้ป่วยเริ่มต้นจนส่งกลับบ้าน



กรุงเทพฯ-“ดุสิตโมเดล” โครงการนำร่องเชื่อมต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่ปฐมภูมิ-ทุติยภูมิ-ตติยภูมิ และส่งต่อกลับรักษาที่บ้าน

(1 ก.ค.65) ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของประชาชนแบบบูรณาการในพื้นที่ เขตดุสิต พระนคร บางซื่อ และบางพลัด (ดุสิตโมเดล) ครั้งที่ 1/2565 ว่า โครงการดุสิตโมเดลเป็นโครงการที่วชิรพยาบาล ร่วมกับสำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคลินิกอบอุ่นในพื้นที่ ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งแนวคิดเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามหาวิธีให้การรักษาเข้าถึงประชาชนได้อย่างใกล้ชิดที่สุด ทั้งการรักษาพยาบาลเบื้องต้นและเคสที่ต้องอาศัยการรักษาแบบซับซ้อน ให้มีขั้นตอนระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสิทธิการรักษาที่ประชาชนมีอยู่ ซึ่งหน่วยงานได้ทำการออกแบบระบบและในวันนี้ได้หารือรายละเอียดการเชื่อมต่อระบบ และการบูรณาการในลักษณะของSand Box เพื่อเปิดพื้นที่ทดลอง รวมถึงการทบทวนข้อมูลในเชิงพื้นที่ที่ต้องการ อาทิ สิทธิการรักษาของประชาชน อัตรากำลังของแพทย์ พยาบาล ศักยภาพของสถานพยาบาล ทั้งที่อยู่ในสังกัดกทม.และนอกสังกัดที่อยู่ในพื้นที่กทม. โดยจะมีการปรับมาตรการทางสาธารณสุขบางอย่างเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และเริ่มเปิดระบบในวันที่ 28 กรกฎาคม นี้ 

ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการดังกล่าวคือเมื่อเจ็บป่วยและเข้าไปใช้บริการตรวจรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุขสามารถรับบริการพบแพทย์ ผ่านระบบ Telemedicine ได้ หรือในกรณีที่เป็นเคสฉุกเฉิน  สามารถเข้าสู่ระบบการส่งต่อได้โดยตรง และยังครอบคลุมถึงการส่งกลับเพื่อรักษาต่อ เพื่อบรรเทาความแออัดของสถานพยาบาลได้ด้วย ระบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ขึ้นอีก เนื่องจากเป็นระบบที่สร้างขึ้นจากข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากจะเกิดข้อจำกัดหรือช่องโหว่ในการทำงานอีกก็จะไม่มากเท่าที่ผ่านมาแล้ว

นอกจากนี้ยังต้องมีการสร้างมาตรฐานเพิ่มเติมให้กับระบบการดูแลในระดับปฐมภูมิ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน  รวมถึงต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานสิทธิการรักษาของประชาชนในพื้นที่-นอกพื้นที่ให้ละเอียด เพื่อให้ระบบที่พัฒนาขึ้นเพียงพอต่อการรองรับประชาชน และสอดคล้องกับศักยภาพของสถานพยาบาลกทม. โดยระบบที่พัฒนาขึ้นจะสามารถลดความล่าช้าและความยุ่งยากจากงานเอกสารของศูนย์บริการสาธารณสุข พร้อมเชื่อมต่อระบบเอกสารจากระดับปฐมภูมิ ถึงทุติยภูมิและตติยภูมิได้โดยไม่สะดุด และไม่ต้องอาศัยกำลังคนมากนัก เป็นเรื่องของการปรับวิธีการทำงานและระบบการทำงาน ใช้มาตรฐานในการกำกับเดียวกัน

 “สำหรับการขยายโครงการลักษณะSand Boxในอนาคตนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีทำSand Box เดียว อาจจะมีการทำหลายSand Box ในคราวเดียวกัน แต่ของวชิรพยาบาลจะเริ่มก่อนเนื่องจากมีความพร้อมมากกว่า จากนั้นจะมีการเริ่มSand Box ในพื้นที่ฝั่งกรุงธนเหนือ-ใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 5 เขต ทั้งนี้หลังจากเริ่มดำเนินการSand Box แรกและพบความผิดพลาดจะต้องรีบแก้ไขให้เร็ว และเป็นบทเรียนให้Sand Box ใหม่ทันที การทำงานในลักษณะนี้จะสามารถทำให้เกิดการเชื่อมโยงได้มากขึ้น ประกอบกับทั้ง 2 โครงการจะเกิดใน 2 พื้นที่ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกันสูงมาก ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้กทม.ได้เรียนรู้ว่ากลไกการทำงานระหว่างพื้นที่ที่แตกต่างกันควรเป็นอย่างไร” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว