In Bangkok
กทม.เปิด5มาตรการดูแลความปลอดภัย เด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ เปิด 5 มาตรการ ดูแลความปลอดภัยให้เด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ
(4 ก.ค. 65) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยเด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครมีแนวทางในการดำเนินการ 5 มาตรการ คือ 1. สำนักการจราจรและขนส่งดำเนินการตรวจสอบสภาพการใช้งานของกล้อง CCTV หากตรวจพบว่ามีสภาพชำรุด ภาพไม่ชัดเจน ให้เปลี่ยนกล้องให้มีความคมชัดและประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนและตรวจสอบการติดตั้งไม่ให้ทิศทางของมุมกล้องเกิดช่องว่างของระยะมุมกล้อง เพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง 2. ตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่าง ดำเนินการแก้ไขกรณีกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่โดยรอบรั้วโรงเรียนยื่นบดบังแสงสว่างจากโคมไฟฟ้าส่องสว่างและมุมกล้อง เพื่อให้แสงสว่างสามารถส่องถึงพื้นเบื้องล่างได้และไม่บดบังทิศทางของกล้อง CCTV 3. ฝ่ายเทศกิจจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจตราบริเวณทางเดินรอบ ๆ โรงเรียนรวมถึงบริเวณใกล้เคียง เวลา 05.00 – 06.00 น. ประสานงานตรวจตราร่วมกับ สน.ท้องที่
4. เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ภายในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยดูแลด้านความปลอดภัยในพื้นที่นั้น ๆ ให้ทางสำนักงานเขตจัดอบรมเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่งานรักษาความสะอาด โดยขอความร่วมมือจากสถานีตำรวจจัดส่งวิทยากรมาให้ความรู้ คำแนะนำ รวมไปถึงซักซ้อมแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครสามารถปฏิบัติงานภายในพื้นที่ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ และ 5. เน้นย้ำการทำงานร่วมกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยชี้ให้เห็นว่าการปราบปรามที่ดีที่สุดคือการป้องกัน รวมไปถึงการปรับสภาพแวดล้อมให้ไม่เป็นสถานที่เปลี่ยว ซึ่งผู้อำนวยการเขตเป็นแกนหลักในการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นภายในพื้นที่
สำหรับจุดเสี่ยงภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวน 463 จุด แบ่งเป็น 7 ประเภท ดังนี้ 1. บริเวณพื้นที่รกร้าง 12 แห่ง 2. อาคารร้าง 6 แห่ง 3. สะพานลอยคนข้าม 66 แห่ง 4. สวนสาธารณะ/สวนหย่อม 46 แห่ง 5. จุดอับ จุดมืด จุดอับสายตา 88 แห่ง 6. โรงเรียน – สถานศึกษา 64 แห่ง และ 7. อื่นๆ เช่น ถนน ตรอก ซอย เปลี่ยว ช่วงกลางคืน ฯลฯ 181 แห่ง โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจจะตรวจจุดเสี่ยงและจุดตู้เขียว เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดอาชญากรรม สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ตรวจสิ่งสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องวงจรปิด (CCTV) ป้ายสัญญาณจราจรต่างๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สามารถใช้งานได้ ดูสภาพแวดล้อม เช่น ไม่ให้ต้นไม้บดบังแสงไฟ บดบังกล้องวงจรปิด (CCTV) และดูความสะอาดของพื้นที่ รวมถึงกำหนดให้มีตู้เขียวประจำจุดเสี่ยง และติดตั้งป่ายประชาสัมพันธ์เพื่อป้องกันอาชญากรรม