In Bangkok

กทม. 'เสวนาเปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ' ระดมแนวคิดแก้ปัญหา'คนจนเมือง'



กรุงเทพฯ-ร่วมวงเสวนา “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ” ระดมแนวคิดแก้ปัญหา"คนจนเมือง" สร้างกรุงเทพฯที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

(8 ก.ค.65)​ เวลา​ 09.00 น.​ นายศานนท์​ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ เป็นวิทยากรงานเสวนา “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ” เวทีที่ 1 คนจนเมือง​ ซึ่งงานเสวนาดังกล่าวไทยพีบีเอส​(Thai PBS)​ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์​ วิจัย​และนวัตกรรม(สกสว.)​ จัดขึ้นตั้งแต่เวลา 09.00 - 18.20 น. ณ ห้องมิตรทาวน์ ฮอลล์ 2 อาคารสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 5 ฝั่งเหนือ เขตปทุมวัน 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ กล่าวว่า​ คนจนไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหาของเมือง​ แต่ว่าเป็นฟังก์ชันหนึ่งที่สำคัญของเมือง ซึ่งมันคือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนเมืองที่เราต้องเริ่มที่บรรทัดฐานนี้ก่อน การลดต้นทุนให้กับคนจนรวมถึงคนทั้งเมือง​เป็นนโยบายหนึ่งของกทม.ที่จะลดต้นทุนโดยแบ่งเป็นหลายส่วน อาทิ​ กทม.มีโรงรับจำนำในสังกัดการดูแลที่มีดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำมากก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะสามารถช่วยคนเมืองได้ เรื่องการจัดพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ทำกินต่างๆ ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ว่าพื้นที่สาธารณะต่างๆจะเป็นพื้นที่สำหรับการทำมาหากินของคนเมืองได้​และเกี่ยวข้องกับเรื่องของนโยบายประเทศแข็งแรง แต่ยังติดปัญหากับเงื่อนไขของด้านการจัดระเบียบฯ​ การจำกัดสิทธิ์ต่างๆ​ ซึ่งกทม.เชื่อว่าทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น เพราะกทม.จะส่งเสริมเรื่องของการหาสถานที่สำหรับทำกินให้มากขึ้นทำให้เศรษฐกิจต่างๆดีขึ้น​ นอกจากนี้หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีส่วนของเรื่องของการท่องเที่ยวเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งกทม.จะทำการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในเมือง ที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นซึ่งหากดำเนินการไปพร้อมกับการลดต้นทุนให้กับคนเมือง​ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก​โดยให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึง

"ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ พูดเสมอว่า อยากสร้างเมืองที่น่าอยู่เป็นกรุงเทพฯที่น่าอยู่สำหรับทุกคน คำว่าทุกคนส่วนใหญ่จะลืมคนจนเมือง ซึ่งเราจะทำต้องให้ความสำคัญส่งเสริมองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน​ ประกอบด้วย​ บ้าน​ งานหรือที่ทำกิน​ โรงเรียน​ ​และการเดินทาง​ กทม.ต้องดำเนินการหาวิธีว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เมืองมีต้นทุนต่างๆให้ถูกลงและสร้างโอกาสให้คนได้มากขึ้น​ เช่น​ ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับงานจะเห็นได้ว่า คนจนเมืองจะประกอบอาชีพใกล้บ้านที่พักอาศัย เขาจะเลือกงานที่อยู่ใกล้บ้าน​ นั่นเป็นโจทย์ว่ากทม.จะทำให้งานอยู่ใกล้ๆและการเดินทางถูก​ เป็นการลดต้นทุนรายจ่าย หรือหากว่างานอยู่ไกลบ้านแต่เราทำให้การเดินทางฟรีและสะดวกก็เป็นอีกมิติหนึ่งเช่นกัน หรือว่าบ้าน​ งาน​ โรงเรียน​ การเดินทางต้องทำให้ต้นทุนถูกมากขึ้นเป็นต้น​ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและกทม.ที่ต้องหาวิธีดำเนินการ​ เช่น​ เรื่องลดต้นทุนการเดินทาง​แต่ก่อนคนมองการเดินทางในเมืองด้วยรถไฟฟ้า BTS ซึ่งคนจนเมืองเข้าถึงยากด้วยราคา​ ถึงจะมีกี่สีกี่สายเขาก็ไม่ได้ขึ้นเพราะต้นทุนเรื่องราคา ซึ่งกทม.ก็กำลังดำเนินการแก้ไข รวมถึงรถประจำทางหรือว่ารถเมล์ ซึ่งกทม.กำลังหาวิธีดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ​ เช่น​ เรื่องของผู้ประกอบการที่เลิกกิจการ​ ปัญหา​เรื่องของรอบและจำนวนรถประจำทาง​ เป็นต้น นอกจากนี้กทม.ยังดำเนินการเรื่องเรือสัญจรในคลองของกรุงเทพฯอีกด้วย​ แต่ปัญหาอุปสรรคก็คือกทม.ไม่สามารถดำเนินการเองได้ทุกอย่างแต่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานอย่างเข้มข้นกับองค์กร​ หน่วยงานต่าง​ ๆ​ เพื่อแก้ปัญหาและลดต้นทุนในการดำรงชีวิตให้คนจนเมือง​ คนกลุ่มเปราะบาง​ คนไร้บ้าน​ คนด้อยโอกาส​ และคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมอีกด้วย"  นายศานนท์กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนา​ 

ทั้งนี้​ การเสวนา​ "เปิดประตู่สู่ความเหลื่อมล้ำ"  ในวันนี้​ เวลา​ 09.00 -​ 15.00 น. เป็นเวทีเสวนาย่อย 5 ประเด็น​ ภายใต้บริบทลดความเหลื่อมล้ำ​ประกอบด้วย​ เวทีที่​ 1 คนจนเมือง​ โดย ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยา​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ รศ.ดร.นฤมล นิราทร​ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ นางสาวนพพรรณ พรหมศรี​ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย​ และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ เวทีที่ 2 ปลดล็อก ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา​ โดย​ ดร.ไกรยส ภัทราวาทผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (ก​ส​ศ.) ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศรหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายกรุงเทพมหานคร​ พรรคก้าวไกล​ เวทีที่ 3 คนไร้สถานะ​ โดย​ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร​ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ​ และนายวีนัส สีสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านสัญชาติฯ​ กรมการปกครอง​ เวทีที่ 4 คนพิการยากจน​ โดย​ พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ

นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ​ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ​ กระทรวงสาธารณสุข​ และนางพัชราภรณ์ ชนภัณฑารักษ์ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ชุดพัฒนาคนพิการ​ จังหวัดนครราชสีมา​ เวทีที่ 5 ผู้สูงอายุโดดเดี่ยว​ โดย​ ศ.ระพีพรรณ คำหอม​ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ พร้อมสรุปเนื้อหา 5 เวที โดย ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​ เวลา​ 16.00 น.​ เข้าสู่งาน"เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ" กล่าวนำวัตถุประสงค์และโจทย์วาระกลางความเหลื่อมล้ำโดย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์​ วิจัยและนวัตกรรม ด้านสังคมสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. (ไทยพีบีเอส) และคลิปนำเสนอ Fact & Figure และ Challenge Briefing “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ" เวลา​ 16.30 - 18.00 น. เป็นวงเสวนา "ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำสู่ทางเลือกของการสร้างสังคมที่เป็นธรรม" โดย​ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ​ อดีตนายกรัฐมนตรี​ นายวรภพ วิริยะโรจน์​ โฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง​ สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร​ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ​ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต​ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย​ และเวลา​ 18.00 -​ 18.20 น.​ เสวนาในหัวข้อ​"คุณค่าและความสำคัญของการขับเคลื่อนโจทย์ความเหลื่อมล้ำกับสังคมไทย" และกล่าวปิดงานเสวนา โดย​ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง​ ประธานคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. (ไทยพีบีเอส)

ทั้งนี้​ ผู้สนใจสามารถรับชมสดออนไลน์ทาง​ Facebook​ LIVE​@ThaiPBS​ ช่อง​ YouTube ThaiPBS และเวบไซต์​ www.thaipbs.or.th/Inequality สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่​ 02-790-2416