In Bangkok

ผู้ว่าฯสัญจรเขตบางบอนเร่งแก้ไข3ปัญหา 'การจราจร-น้ำท่วม-ชุมชนไม่ตรงเงื่อนไข'



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯสัญจร เขตบางบอน เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรแยกบางบอน 5 ย้ำพนักงานกวาดที่ช่วยแจ้งเหตุ ถือเป็นคนดีต้องชมเชย

(10 ก.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาการจราจรบริเวณแยกบางบอน 5 และเยี่ยมชุมชนมั่นคง 133 เขตบางบอน ว่า วันนี้มาลงผู้ว่าฯสัญจรครั้งที่ 4 ที่เขตบางบอน  ซึ่งมีปัญหาหลักเรื่องการจราจร เป็นพื้นที่ที่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ใช้ถนนเอกชัยบางบอนเป็นหลัก เมื่อไปถึงถนนวงแหวน-บางบอนเป็นจุดคอขวดซึ่งไม่มีทางเข้าออกถนนที่สะดวก และมีถนนบางบอน 3 กับถนนบางบอน 5 ที่การจราจรติดขัดตลอดเส้นทาง เนื่องจากมีสี่แยกกับสามแยก เมื่อข้ามไปเขตหนองแขมก็มีสะพานเชื่อมไปถึงถนนเพชรเกษม 69 กับถนนเพชรเกษม 81 มีจุดที่เป็นคอขวดตรงสะพาน ซึ่งทางกทม. ได้จัดสรรงบประมาณมาขยายสะพานเพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดจากถนน 2 เลนให้เป็น 4 เลนทั้งสองจุด เพื่อให้รถสามารถระบายไปที่หนองแขมได้ดีขึ้น อีกจุดที่เป็นปัญหาคือที่วงแหวน-บางบอน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง กทม.จะหารือกับกรมทางหลวงอีกครั้งเพื่อหาแนวทางแก้ไขเนื่องจากการจราจรเป็นปัญหาสำคัญ

ปัญหาที่ 2 ปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่เขตบางบอนมีคลองเป็นจำนวนมาก กว่า 30 คลอง ภายในพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต้องทำการลอกคลอง ที่ผ่านมามีบางคลองที่นานๆ จะลอกคลองสักครั้ง รวมถึงการลอกท่อระบายน้ำ มีบางหมู่บ้านที่เป็นปัญหาน้ำท่วมขังนาน 

ปัญหาที่ 3 เขตบางบอนมีชุมชนที่จัดตั้งตามระเบียบเพียง 12 ชุมชน และมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถจัดตั้งได้เนื่องจากยังไม่ตรงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทำให้ความช่วยเหลือต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือตรงตามกฏหมายได้ คงต้องพิจารณามาตรการว่าจะสามารถเพิ่มชุมชนเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบได้อย่างไร ส่วนเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ ทางฝ่ายบริหารจะรับปัญหาไปเพื่อหาทางดำเนินการแก้ไขให้  ทั้งนี้ เขตบางบอนเป็นพื้นที่ชายขอบอาจมีปัญหาไม่เหมือนที่อื่น อาจไม่มีปัญหาเรื่องความหนาแน่นของประชาชนมากเหมือนในเมือง แต่ปัญหาเรื่องการกระจายตัว เช่น การเก็บขยะอาจมีความถี่ที่น้อยเนื่องจากจำนวนรถเก็บขยะอาจจะมีไม่เพียงพอ และมีคนต่างด้าวอาศัยอยู่จำนวนมาก เนื่องจากอยู่ใกล้กับสมุทรสาครด้วย 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องโควิด-19 ได้สอบถามแล้วอยู่ในสภาวะที่สามารถควบคุมได้  โรงเรียนในพื้นที่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องโควิดมาก ปัจจุบันจึงยังไม่น่ากังวลเรื่องโควิด และมีการรณรงค์ให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มมากขึ้น  อย่างไรก็ดีได้มีนโยบายให้ทุกสำนักงานเขตเตรียมความพร้อมเรื่องศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) ซึ่งในพื้นที่เขตบางบอนยังมีอยู่ แต่ยังไม่มีผู้ใช้บริการในขณะนี้ การมีศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ( CI ) เป็นข้อดีที่สามารถแยกผู้ป่วยออกมา  เพื่อไม่ให้ไปติดผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน ที่ผ่านมา CI บางแห่งใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้ง เมื่อโรงเรียนเปิดก็จะต้องหาสถานที่ใหม่ ทางที่ดีคือหาพื้นที่ของเอกชนที่สามารถเข้าร่วมได้ พร้อมทั้งตรวจสต๊อกยาทั้งหมดว่ามีเพียงพอหรือไม่ แจกไปเท่าไร โควิดรอบนี้การให้ยาด้วยความรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการหนักมากซึ่งยาจะช่วยลดความรุนแรงได้ 

ส่วนการฉีดวัคซีน และการสวมหน้ากากยังคงจำเป็นอยู่ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในที่โล่งแจ้งแต่คนหนาแน่นก็ควรสวมหน้ากาก ตนก็ยังใส่หน้ากากทั้งวันเพื่อเป็นแบบอย่าง ให้เห็นว่าใส่หน้ากากก็ยังมีความจำเป็นอยู่  ออกไปปลูกต้นไม้ถึงแม้ว่าจะอยู่ในที่โล่งแจ้งแต่มีคนเยอะก็ใส่หน้ากากอยู่ ปัจจุบันการใส่หน้ากากเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่เชื่อว่าจะทำให้เราปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่อาจมีความไม่แน่นอนอยู่  ซึ่ง กทม. ได้ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ศบค. ทุกอย่าง ตามที่รัฐบาลมีนโยบายมา 

สำหรับการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ในพื้นที่บางบอนส่วนใหญ่เป็นปัญหาเส้นเลือดฝอย เช่น ถนนไม่เรียบร้อย ปัญหาท่อระบายน้ำและการลอกคูคลอง ซึ่งต้องบริหารจัดการให้มีความสมดุลระหว่างโครงการขนาดใหญ่และเส้นเลือดฝอย  เช่น อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำต้องสมดุลกับการระบายน้ำของท่อระบายน้ำในชุมชน

ส่วนเรื่องภาษีที่ดินอัตราการจัดเก็บมาจากกระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนด กทม. ไม่สามารถจัดเก็บได้ต่ำกว่าอัตราที่กำหนดได้  หลังจากนี้จะนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นภาษีหลักของ กทม. ที่จัดเก็บอยู่ ตัวอย่างเช่น พื้นที่เขตบางบอนในปีนี้ตั้งเป้าจัดเก็บได้ 58 ล้านบาท ปัจจุบันเก็บได้เพียง 30 กว่าล้าน หรือ 60% ซึ่งที่จริงควรได้ถึง 90 ล้านบาท จากตัวเลขปีที่แล้วจัดเก็บภาษี 10% จัดเก็บได้ 9 ล้านบาท ดังนั้นคนที่มีทรัพย์สินจึงต้องเตรียมตัวเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย  

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วน ว่าตามหลักเกณฑ์ควรจัดเก็บเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันยังขาดฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งหากมีข้อมูลครบจะทำให้สามารถพิจารณาได้ว่าควรจะเก็บในอัตราเท่าไร  ซึ่งอาจจะเป็น 5 เท่าจากของเดิมก็เป็นได้ แต่ก่อนเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดินจะประเมินจากรายได้ แต่ปัจจุบันเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเก็บจากเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าประเมินที่ดิน ซึ่งกทม. ในฐานะผู้ปฏิบัติจะต้องมีความชัดเจนเรื่อง ฐานข้อมูล ส่วนอัตราการจัดเก็บเป็นเรื่องของกระทรวงการคลังกำหนด 

“สำหรับเพื่อนพนักงานกวาดที่แจ้งเหตุต้องถือว่าเค้าทำความดี ไม่ควรไปเอาผิดกับผู้แจ้ง  เพราะเขานำความเดือดร้อนของชาวบ้านมาบอก พนักงานฝ่ายรักษาฯ ที่มีจำนวนกว่า 10,000 คน จะช่วยดูแลปัญหาของเรา  เช่น เมื่อพบเห็นจุดไหนที่เป็นมีปัญหาน้ำท่วมก็แจ้งเข้ามา ทั้งในเรื่องท่อระบายน้ำ ความปลอดภัย ไฟฟ้าส่องสว่าง และทางม้าลาย เป็นปัญหาจุดย่อย ๆ ที่บางทีเราเข้าไม่ถึง ซึ่งต้องขอบคุณที่เค้าช่วยแจ้ง มีคนกังวลว่าคนที่มาแจ้งจะได้รับผลกระทบ จริงๆ แล้วต้องชมเชยและให้รางวัลเขาที่นำข้อเท็จจริงมาบอกเราโดยสุจริตใจ”  ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว