In Bangkok
กทม.เปิดสัมมนาทิศทางด้านต่างประเทศ สู่การบรรลุเป้าหมายพัฒนาเมืองยั่งยืน

กรุงเทพฯ-รองปลัดกทม.เปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการกำหนดทิศทางการด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครสู่การบรรลุเป้าหมายพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
(11 ก.ค.65) เวลา 09.00 น. : นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครสู่การบรรลุเป้าหมายพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยมี ผู้บริหารสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล คณะผู้บริหารสำนักงานการต่างประเทศ ที่ปรึกษาโครงการฯ ด้านยุทธศาสตร์และทีมวิจัยจากสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) (ทียูแลค) และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องปรินซ์บอลรูม 3 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
กรุงเทพมหานคร โดย สำนักงานการต่างประเทศ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครสู่การบรรลุเป้าหมายพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ฯ จากหน่วยงานกรุงเทพมหานครหลังจากได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ผ่านมา เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครฯฉบับสมบูรณ์ รวมถึงส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ บทบาทของงานด้านการต่างประเทศและความท้าทายที่ต้องเผชิญ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานกรุงเทพมหานครเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 95 คน และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 100 คน กำหนดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร สู่การบรรลุเป้าหมายพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก เป็นการเสวนาหัวข้อ “บทบาทและความท้าทายในงานด้านการต่างประเทศต่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหลายภาคส่วน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศทั้งในระดับประเทศและระดับเมือง รวมถึงการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ต่อมิติทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ช่วงที่สอง เป็นการรายงานและผลการศึกษาตำแหน่งทางยุทธศาสตร์และร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2580) พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ฯ โดยสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า งานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครมีสำนักงานการต่างประเทศเป็นหน่วยงานกลางในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับเมือง องค์การระหว่างประเทศและเครือข่ายต่างประเทศ และเชื่อมโยงโอกาสจากงานด้านการต่างประเทศเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการพัฒนาเมือง ผ่านความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภายในกรุงเทพมหานครสามารถมีส่วนสนับสนุนและได้รับการสนับสนุนจากงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครเช่นกัน ความร่วมมือจากหน่วยงานปฏิบัติงานทั้งสำนัก สำนักงาน และสำนักงานเขต เพื่อร่วมผลักดันภารกิจด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นประโยชน์กับทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะการนำองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาเมืองจากต่างประเทศ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การสร้างเมืองพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง การสร้างเมืองให้เป็นเมืองที่น่าอยู่มาปรับใช้ขับเคลื่อนภารกิจตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครและนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใน 9 มิติ 217 นโยบาย การสัมมนาในวันนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ผู้แทนจากหน่วยงานกรุงเทพมหานครจะได้รับทราบความสำคัญและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในแผนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครเมืองมหานครแห่งเอเชีย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และนำไปเป็นกรอบและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงตอบสนองและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายทุกรูปแบบ ขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้ถึงบทบาทและความท้าทายในงานด้านต่างประเทศต่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) (เอสดีจี) และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ความสามารถในหลากหลายด้าน รวมถึงมีประสบการณ์ทำงานด้านการต่างประเทศ ทั้งการขับเคลื่อนเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) (เอสดีจี) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่ามกลางกระแสโลกในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากหน่วยงานกรุงเทพมหานครนำความรู้ที่ได้มา “พัฒนาการทำงานหรือปรับขยาย (scale up)(สเกล-อัพ)” การขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป รวมถึงมองเห็นช่องทางและโอกาสในการใช้ประโยชน์จากงานด้านการต่างประเทศ พร้อมทั้งร่วมสนับสนุนงานการต่างประเทศผ่านการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศฯ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครสู่การบรรลุเป้าหมายพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการปรับตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศและการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครในบริบทเมืองมหานครแห่งเอเชีย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางปรับตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ (Strategic Positioning) ของสำนักงานการต่างประเทศสู่บทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครฯ ฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกด้านภูมิรัฐศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม กระแสโลกาภิวัฒน์ที่เข้มข้น รวมถึงปัจจัยท้าทายใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาเมือง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพ-ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19 โดยสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (TU-RAC) เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนให้กิจกรรมลุล่วงได้เป็นอย่างดี และยังส่งเสริมให้กิจกรรมนี้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยสรุปผลการดำเนินตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ได้ดังนี้ 1. สร้างความเข้าใจและวางแผนงานเพื่อดำเนินกิจกรรมฯ 2. ออกแบบกระบวนการปรับตำแหน่งทางยุทธศาสตร์และจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครฯ 3. แต่งตั้งและจัดประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศฯ และคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศฯ 4. ศึกษา วิเคราะห์สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ ในระดับเมือง ระดับประเทศ และระดับสากล พร้อมทั้งประเมินศักยภาพและความเสี่ยงที่มีผลต่อการดำเนินงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร 5. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักและรอง รวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง และสัมภาษณ์ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมนำข้อมูลที่ได้มาสรุปเป็นข้อเสนอแนะและแนวทางในการปรับตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการร่างยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครฯเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว