In Bangkok

กทม.มีมติขยายเวลาการจัดเก็บขยะใหม่ ออกไปถึงต.ค.ชี้ขอปรับปรุงข้อบัญญัติ



กรุงเทพฯ-เผยมติผู้บริหารกทม.ขยายเวลาจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ ถึง ต.ค. 66 เล็งปรับปรุงข้อบัญญัติขยะให้รอบคอบ ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ 

(11 ก.ค.65) ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2565 ในวันนี้เห็นการขยายเวลาการบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2562 ออกไปก่อน  เป็น 1 ตุลาคม 2566 ตามที่สำนักสิ่งแวดล้อมเสนอให้พิจารณา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น   ทั้งนี้ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548  จึงจะมีการปรับปรุงข้อบัญญัติใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้บริหาร และเชิญทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มาร่วมแสดงความคิดเป็นเพื่อให้มีความรอบคอบและสะท้อนปัญหาได้ครบทุกด้าน 

“สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการคำนวณค่าจัดเก็บขยะ คือ  ต้องลดค่าใช้จ่ายก่อน การขึ้นค่าธรรมเนียมจะเป็นภาระกับประชาชน และเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้บริการพื้นฐานกับประชาชนอยู่แล้ว สำหรับการเก็บอัตราใหม่จะทำให้กทม.มีรายได้เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท แต่จะพยายามไม่ให้ประชาชนต้องจ่ายมากขึ้น ซึ่งภาคประชาชนอาจจะมีข้อจำกัดมากกว่าภาคเอกชน เอกชนสามารถรีไซเคิลและบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยะส่วนใหญ่ทุกวันนี้กว่า 60 % มาจากครัวเรือน หลายส่วนเห็นว่าอัตราค่าขยะใหม่จะทำให้กทม.เก็บค่าขยะจากเอกชนได้มากขึ้น แต่ในมุมกลับกันอาจเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนมากขึ้นด้วย ต้องคิดให้รอบคอบ และอัตราค่าธรรมเนียมขยะปัจจุบันคิดที่น้ำหนักขยะเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงเรื่องแรงจูงใจในการบริหารจัดการหรือการคัดแยกขยะ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาการเตรียมการรับมือสาธารณภัย และ การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย ตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้เตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร 6 แผน ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากการคมนาคมและขนส่ง  แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม  แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากภัยแล้ง  แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย  แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาจากอัคคีภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัย  นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร จะร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ซักซ้อมแผนบูรณาการสาธารณภัย ระดับ 2 ระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2565 

“จะเห็นได้ว่าจากเหตุอัคคีภัยที่บ่อนไก่และเยาวราช พบว่ามีความไม่เป็นเนื้อเดียวกันระหว่างอาสาสมัครป้องกันเหตุและผู้บัญชาการเหตุการณ์  ซึ่งมีอาสามัครจากหลายกลุ่ม ต่อไปต้องมีการทำทะเบียนอาสาสมัครดับเพลิง กู้ชีพ และกู้ภัย ให้ชัดเจน มีป้าย มีเครื่องแบบ รวมถึงต้องพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map จัดทำคู่มือให้การจัดการสาธารณภัยให้ผอ.เขตหรือผู้รับผิดชอบได้ศึกษา และต้องมีหลักสูตรการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานสาธารณภัยในระยะยาวด้วย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
 
• กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า สถานการณ์โควิด-19 จากตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อภาพรวมยังไม่น่าเป็นห่วง ทั้งในแง่การครองเตียงแดงด้วย โดยกรุงเทพมหานครได้เตรียมเตียงแดงและเตียงเขียวพร้อมให้บริการผู้ติดเชื้อ พร้อมกันนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความพร้อมด้านอื่นๆ เช่น สต็อกยา และออกซิเจนโมเลเตอร์ (เครื่องผลิตออกซิเจน) สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ มีพร้อมแต่ยาตัวใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขให้ใช้คือยาโมลนูพิราเวียร์ค่อนข้างได้ผลแต่ติดปัญหาที่ใช้กับเด็กไม่ได้ ต้องรอประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข แต่เชื่อว่าสถานการณ์ไม่มีปัญหาเรื่องสต็อกยา ขณะเดียวกันให้สำรวจออกซิเจนโมเลเตอร์ (เครื่องผลิตออกซิเจน) หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยเพิ่มได้ ที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อนั้นประชาชนยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ 

นอกจากนี้ เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบางค่อนข้างเยอะ การรับวัคซีนเข็ม 3 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ อยากให้มาฉีดวัคซีนกันเยอะๆ ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนและผู้ที่เคยฉีดมาแล้วให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามระยะเวลาที่กำหนด ใครที่อยากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถไปรับวัคซีนได้ตามจุดบริการต่าง ๆ ซึ่งหากไม่อยากจองคิวฉีดวัคซีนสามารถวอล์คอิน (Walk In) ได้ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ถึงวันที่ 31 ก.ค. 65 หรือที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ทุกวันศุกร์ หรือจะจองคิวผ่านแอปพลิเคชันล่วงหน้าโดยเลือกรับบริการจากจุดที่สะดวกหรือใกล้บ้านได้ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) และศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันมีประชาชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะวันศุกร์กับวันเสาร์มีคนมาฉีดวัคซีนมากขึ้น ขณะนี้คิดว่าสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วงมากและที่ผ่านมาก็มีการทำงานและประสานงานใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขต่อเนื่อง

 ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครนั้น กรุงเทพมหานครมีนักเรียนในสังกัดทั้งหมด 253,515 คน มีเด็กนักเรียนติดเชื้อ 2,133 คน คิดเป็น 0.84% ได้มีการให้แนวทางในการดำเนินการไปและให้ดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด คิดว่าสถานการณ์ยังควบคุมได้พร้อมทั้งมีการเตรียมพร้อมรับมืออยู่ตลอด