In Bangkok
กทม.ประชุมคกก.ขับเคลื่อนนโยบายศก.ฯ เล็งนำร่องพัฒนา15ย่านสร้างสรรค์

กรุงเทพฯ-กทม.ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ครั้งแรก เน้นมองวิสัยทัศน์ร่วมกัน เล็งนำร่องพัฒนา 15 ย่านสร้างสรรค์
(12 ก.ค. 65) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องสุทัศน์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ครั้งแรก ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่พูดกันมาแล้ว แต่หากจะลงในรายละเอียดแล้วจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเยอะ จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยได้มีการเชิญ นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
นโยบายโดยรวมคือการดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมเป็นกรรมการฯ และให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำทางกรุงเทพมหานครแล้วแตกออกมาเป็นงานย่อย ๆ ทั้งนี้ จาก 216 นโยบาย ได้มี 13 นโยบายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
1. ขยายโอกาส ขยายช่องทาง ให้กับสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB: Made in Bangkok)
2. ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ผลักดัน Hi-Tech และ Hi-Touch
3. กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง (สตรีทโชว์)
4. ดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ
5. 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ
6. จัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้ง ทุกมุมเมืองเป็นพื้นที่ศิลปะ
7. แพลตฟอร์มรวบรวมพื้นที่สร้างสรรค์กรุงเทพฯ
8. ออกแบบเรื่องราวให้เมือง ผ่าน digital experience economy
9. พื้นที่สาธารณะเอนกประสงค์ทั่วกรุง
10. งานศิลป์จากหอศิลป์กรุงเทพฯ สู่พื้นที่สาธารณะทั่วกรุง
11. ยกระดับศูนย์กีฬา ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ศูนย์เยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
12. วิชาศิลปะนอกห้องเรียน ส่งเสริมความคิด ความสร้างสรรค์ ผ่านแนวร่วมศิลปินทั่วกรุง
13. เปลี่ยนศาลาว่าการและลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ และพื้นที่สร้างสรรค์
“สำหรับแนวทางการชับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เบื้องต้นต้องมองวิสัยทัศน์ร่วมก่อนว่าเราจะเดินในเรื่องของมิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ กทม. อย่างไร ซึ่งทุกคนให้กรอบว่าเราควรจะวางกว้างไว้ก่อน แล้วก็ผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แล้วต้องมานิยามว่าอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีอะไรบ้าง ซึ่ง กทม. มีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว คือ Bangkok Brand จากการหารือในวันนี้ ทางคณะกรรมการฯ มองว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย MIB (Made in Bangkok) ซึ่งจะเป็นงานแรกที่จะเริ่มทำ” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นย่านสร้างสรรค์ เราจะเริ่มต้นด้วย 10 ย่าน และจะเพิ่มอีก 5 ย่านแถวคลองผดุงกรุงเกษม โดยตอนนี้เราได้เริ่มกิจกรรมถนนคนเดินบ้างแล้ว และจะทำอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นต้นทุนสำคัญเพราะไม่ใช่แค่เรื่องถนนคนเดิน แต่คือเรื่องของย่าน ซึ่งการพัฒนาย่านคือการพัฒนาต้นทุนกลไกของประชาชน งานที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ก็จะลงไปที่ตรงนี้ แต่การจะพัฒนาเป็นย่านสร้างสรรค์ต้องใช้เวลา ปลายเดือนนี้ทางเขตจะส่งข้อมูลต้นทุน ทั้งข้อมูลคน และข้อมูลสินทรัพย์ในชุมชน เช่น สถาปัตยกรรม ตึก อาคารโบราณ อาหาร วัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อนำมาบูรณาการการทำงานร่วมกับ CEA พัฒนาให้เกิดย่านสร้างสรรค์ต่อไป
สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม เข้ามาร่วมเป็นกรรมการฯ อาทิ นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล กรรมการบริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร นายพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เป็นต้น