In Bangkok
กทม.รับฟังความคิดเห็น-ป้องกันมลภาวะ ก่อสร้างทางยกระดับข้ามแยกถาวรธวัช1

กรุงเทพฯ - สำนักการโยธาและสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.แจงรับฟังความคิดเห็น-จัดทำมาตรการป้องกันมลภาวะโครงการก่อสร้างทางยกระดับข้ามแยกถาวรธวัช 1 และซอยรามคำแหง 24
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีตัวแทนชุมชนซอยถาวรธวัช 1 และซอยรามคำแหง 24 คัดค้านโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนและก่อสร้างทางยกระดับข้ามแยกถาวรธวัช 1 และซอยรามคำแหง 24 รวมทั้งไม่ได้ทำประชาพิจารณ์สอบถามความต้องการคนในพื้นที่ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และถนนหัวหมาก เพื่อปรับปรุงโครงข่ายถนนรองรับปริมาณการจราจรในถนนรามคำแหงและบริเวณใกล้เคียง และเชื่อมต่อโครงข่ายถนนรามคำแหง-ศรีนครินทร์ร่มเกล้า โดยจะก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 ตั้งแต่ถนนถาวรธวัช ต่อเชื่อมกับถนนหัวหมากและถนนศรีนครินทร์ที่ได้ปรับปรุงแล้ว แบ่งเป็น (1) ก่อสร้างทางยกระดับขนาด 2 ช่องจราจร จากบริเวณเกาะกลางของถนนถาวรธวัช ไม่มีการเวนคืนพื้นที่เพื่อก่อสร้าง (2) ก่อสร้างปรับปรุงถนนใต้ทางยกระดับ จากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร และ (3) ปรับปรุงซ่อมแซมถนนขนาด 6 ช่องจราจร ที่ชำรุดเสียหายจากหน้ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ - สะพานข้ามคลองจิก นอกจากนี้ ในระหว่างการก่อสร้างได้จัดให้มีมาตรการป้องกันและควบคุมมลภาวะในการก่อสร้าง รวมทั้งประสานกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จัดทำแผนการก่อสร้างและการเบี่ยงการจราจรไม่ให้กระทบกับการสัญจรของประชาชน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ลดการสะท้อนเสียงเข้าบ้านพักอาศัยและความดังของเสียงจะไม่เกินที่กฎหมายกำหนด และภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จจะบำรุงรักษาสะพานให้อยู่ในสภาพดี ไม่ให้เป็นแหล่งเสื่อมโทรมและที่ซ่องสุม ตลอดจนในการดำเนินการได้จัดทำป้ายประกาศแจ้งข้อมูลต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านเครือข่ายสารสนเทศ www.publicconsultation.opm.go.th ด้วยแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม เนื่องจากเดิมประชาชนใช้เส้นทางผ่านระหว่างถนนรามคำแหง 24 ถนนพัฒนาการ และถนนรามคำแหง ซึ่งมักเกิดปัญหาการจราจรติดขัดจากปัญหาคอขวด เมื่อก่อสร้างทางยกระดับแล้วเสร็จจะช่วยให้รถยนต์และยานพาหนะต่างๆ ที่จะวิ่งเข้าและออกจากเมืองผ่านถนนพัฒนาการ ถนนศรีนครินทร์ และถนนรามคำแหง คล่องตัวมากขึ้น เพราะสามารถวิ่งขึ้นสะพานได้โดยตรง ไม่ต้องติดรถที่จะเลี้ยวเข้า-ออกจากซอย ทำให้ลดระยะเวลาการเดินทางและเพิ่มคุณภาพชีวิต ส่วนประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยบริเวณซอยรามคำแหง 24 สามารถเดินทางเข้า-ออก ได้คล่องตัว เนื่องจากรถที่จะผ่านเส้นทางดังกล่าวมีปริมาณลดลง
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และถนนหัวหมาก ไม่เข้าข่ายเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดทำรายงาน EIA ข้อ 6 พื้นที่ที่อยู่ในหรือใกล้พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแหล่งมรดกโลกที่ขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกตามอนุสัญญาระหว่างประเทศในระยะทาง 2 กิโลเมตร