In Bangkok
ยันผังเมืองรวมกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่4 ยังรักษาประสิทธิภาพระบายน้ำกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ-ผังเมืองรวม กทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ยังรักษาประสิทธิภาพการระบายน้ำในกรุงเทพฯ
นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. กล่าวกรณีมีการเสนอแนะให้ตรวจสอบผังเมืองฉบับใหม่ที่มีประกาศพื้นที่สีเหลืองขวางเส้นทางไหลระบายน้ำ หรือพื้นที่แก้มลิงที่ใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ได้กำหนดให้พื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย พื้นที่บางส่วนของเขตคลองสามวา เขตมีนบุรี เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) ก.1 เพื่อให้เป็นพื้นที่สงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติและส่งเสริมให้เป็นพื้นที่เพื่อการระบายน้ำ(Floodway) จึงมีข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เข้มงวด สามารถปลูกสร้างอาคารได้ แต่ต้องมีความหนาแน่นน้อย เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์ของประชาชน และเป็นการรักษาประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม. และปริมณฑล หากเกิดน้ำท่วมใหญ่ โดยร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ ก.1 ให้มีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่เดิม เนื่องจากกรุงเทพฯ มีการเจริญเติบโตของเมือง ความต้องการที่อยู่อาศัย และการประกอบกิจกรรมของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจุบัน กทม. กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น แนวคันกั้นน้ำ การปรับปรุงขุดลอกคูคลองให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 โดยร่างผังเมืองรวมฯ ได้ปรับพื้นที่ส่วนใหญ่ให้เป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ก.3 โดยข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ก.3 ตามร่างผังเมืองรวมใหม่นั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะให้สิทธิประชาชนในการปลูกสร้างอาคารเพิ่มขึ้น แต่โดยภาพรวมยังมีวัตถุประสงค์ในการสงวนรักษาพื้นที่ให้มีความหนาแน่นของสิ่งปลูกสร้างต่ำและพื้นที่บางส่วนได้ปรับเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เนื่องจากมีระบบถนนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในร่างผังเมืองฯ นี้ จึงเสมือนเป็นการผ่อนปรนให้เจ้าของที่ดินซึ่งถูกควบคุมเข้มงวดเพื่อใช้พื้นที่เป็น Floodway ของกรุงเทพฯ มากว่า 30 ปี ให้สามารถพัฒนาที่ดินของตนเองตามศักยภาพของที่ดินที่พึงมีได้ ส่วนพื้นที่ด้านใต้ของแนว Floodway ที่เปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.2 และ ย.3) ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเส้นทางไหลระบายน้ำแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีแผนผังแสดงที่โล่ง ซึ่งกำหนดบางบริเวณให้เป็นที่โล่งพักน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือพื้นที่แก้มลิง โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อการป้องกันน้ำท่วม การสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วม สวนสาธารณะ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามที่ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินกำหนด โดยต้องไม่มีการถมดินเกินกว่าร้อยละ 35 ของที่ดินประเภทนี้ในแต่ละบริเวณและการจัดสรรที่ดิน หรือการดำเนินโครงการ หรือกิจการทั้งของรัฐและเอกชนที่มีขนาดพื้นที่ดินตั้งแต่ 5 ไร่ ขึ้นไป ในบริเวณที่โล่งนั้น จะต้องจัดให้มีพื้นที่รับน้ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของขนาดพื้นที่ดิน เพื่อช่วยเสริมระบบการป้องกันน้ำท่วมของ กทม.ให้สมบูรณ์มากขึ้น ประกอบกับกำหนดให้ทุกอาคาร หรือโครงการที่จะก่อสร้างใหม่ จะต้องจัดทำพื้นที่โล่งซึ่งน้ำสามารถซึมผ่านได้และปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยการระบายน้ำฝนลงสู่ชั้นดิน และการจูงใจให้ภาคเอกชน หรือทุกคนสามารถเพิ่มพื้นที่ใช้สอยอาคารของตนได้ (FAR Bonus) หากจัดทำพื้นที่หน่วงน้ำ หรือแก้มลิงในแปลงที่ดินของตนเอง ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างขั้นตอนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อเนื่องจากผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ได้ในปี 2568