In Bangkok

รองผู้ว่าฯกทม.หารือผู้เกี่ยวข้องบูรณาการ ขับเคลื่อนงานด้านคนไร้บ้าน



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯศานนท์หารือผู้เกี่ยวข้อง บูรณาการขับเคลื่อนงานด้านคนไร้บ้าน มุ่งสร้างความเข้าใจของสังคมในความเท่าเทียมและความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

(26 ก.ค. 65) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการบูรณาการขับเคลื่อนงานด้านคนไร้บ้านตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร เครือข่ายหน่วยงานภายนอก และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

รองผู้ว่าราชกากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เข้าหารือและลงพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้เห็นว่าเรื่องคนไร้บ้านไม่ใช่แค่เรื่อง “บ้าน” แต่เป็นทั้งเรื่องงานและเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ที่เราต้องดูแลทั้งวงจร วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้ขอความรู้และความร่วมมือ ซึ่งกทม.ทำเพียงฝ่ายเดียวไม่มีทางได้ เพราะเรื่องคนไร้บ้านไม่ใช่เพียงเรื่องของภาครัฐ แต่ต้องบูรณาการความร่วมมือกับทางมูลนิธิต่าง ๆ และอีกหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจของสังคม

“ผมคิดว่าภาครัฐจะต้องเริ่มก่อน แต่จะทำอย่างไรให้ทั้งสังคมเห็นคนไร้บ้านมีศักดิ์ศรี มีความเป็นมนุษย์ เท่าเทียมกัน บางทีเราอาจจะรู้สึกว่าคนไร้บ้านทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องออกแบบพื้นที่เมืองให้คนทุกคนเห็นความเท่าเทียมและความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ต้องออกแบบเมืองอย่างไรให้ดี โดยมาหารือร่วมกันว่าจะแบ่งเขต (zoning) อย่างไร หรือจะอยู่ร่วมกันในพื้นที่อย่างไร เพราะสุดท้ายเราต้องอยู่ร่วมกันในสังคมให้ได้ ซึ่งเป็นกระบวนของทั้งทางภาครัฐและกระบวนการความเข้าใจทางสังคมที่เราจะต้องยกระดับไปด้วยกัน” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว

ในที่ประชุมได้มีการรายงานถึงการดำเนินการด้านคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 มิติ ได้แก่ 1. มิติด้านฐานข้อมูล 2. มิติด้านที่พักอาศัยที่ปลอดภัย 3. มิติด้านการรักษาสิทธิและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน 4. มิติด้านอาชีพ ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง 5. มิติด้านสุขภาพ และ 6. มิติการบูรณาการช่วยเหลือของหน่วยงานสนับสนุนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งทุกมิติล้วนเชื่อมโยงสอดคล้องกัน

สำหรับมิติด้านฐานข้อมูล ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานในระยะยาว เพราะปัจจุบันแต่ละหน่วยงาน มูลนิธิต่าง ๆ ได้มีการเก็บข้อมูลคนไร้บ้านไว้ และตัวเลขของแต่ละหน่วยงานนั้นค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน ประธานในที่ประชุมจึงได้เสนอให้มีการทำฐานข้อมูลร่วมกัน โดยจะต้องมีการหารือกันเพื่อจัดรูปแบบ (format) หัวข้อการเก็บข้อมูลต่าง ๆ วิธีการติดตาม (tracking) วิธีการอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้และเกิดประโยชน์กับการเข้าให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านต่อไป ซึ่งประธานฯ ได้มอบหมายสำนักพัฒนาสังคมเป็นตัวกลางประสานในเรื่องนี้

ส่วนมิติด้านที่พักอาศัยที่ปลอดภัย มิติด้านการรักษาสิทธิและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ประชุมได้เสนอให้มี Emergency Shelter (ที่พักพิงฉุกเฉิน) จัดหาที่พักเพิ่มเติม เช่น บ้านเช่า ห้องเช่าราคาถูก ห้องเช่าคนละครึ่ง ที่พักอาศัยระยะยาว ที่พักอาศัยถาวร รวมถึงการนำโครงการ “บ้านอิ่มใจ” กลับมาอีกครั้ง ในรูปแบบพื้นที่สวัสดิการและพื้นที่แห่งโอกาส ให้คนไร้บ้านสามารถเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ซักผ้า พักผ่อนหย่อนใจ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนพักค้างคืน แต่หากต้องการพักค้างก็สามารถทำได้ อาจจะมีโต๊ะลงทะเบียนรับสิทธิต่าง ๆ หรือหากประชาชนที่ต้องการบริจาคอะไร ก็สามารถมาบริจาคได้ที่จุดนี้ ซึ่งสำนักพัฒนาสังคม ได้สำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำพื้นที่สวัสดิการไว้ 4 แห่ง ได้แก่ ลานกีฬาใต้ทางด่วนวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ สวนสราญรมย์ และสวนรมณีนาถ โดยประธานในที่ประชุมได้ให้ความเห็นว่า ให้ลองสำรวจพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เส้นรองเมือง แถวปทุมวัน หรือพื้นที่ที่ทางมูลนิธิได้เสนอ (แถวปิ่นเกล้า) เป็นต้น 

มิติด้านอาชีพ ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง ผู้แทนคนไร้บ้านได้ให้คำแนะนำว่า หากจะสนับสนุนงานให้คนไร้บ้าน ควรจะเป็นงานรับจ้างทั่วไป ได้เงินเป็นรายวัน ได้เงินทันทีหลังจบงาน 

มิติด้านสุขภาพ สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยได้หารือกรณี long term care / nursing home ดูแลคนไร้บ้านที่เป็นผู้ป่วยทางกายและจิต โดยสำนักพัฒนาสังคมได้รายงานเพิ่มเติมว่าสำนักฯ ได้มีการหาพื้นที่ที่จะทำเป็น long term care ไว้ที่บึงสะแกงาม ซึ่งปัจจุบันได้เปิดเป็นบ้านพักผู้สูงอายุ และยังเหลือพื้นที่อีกหลาย 10 ไร่ ที่จะสามารถพัฒนาเป็น long term care ได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านคนไร้บ้านตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขับเคลื่อนงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่คนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีองค์ประกอบได้แก่ มีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบสำนักพัฒนาสังคม) ผู้บริหาร/ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร/ผู้แทนหน่วยงานภายนอก อาทิ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) มูลนิธิอิสรชน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา  ซึ่งประธานในที่ประชุมได้เสนอให้มีผู้แทนคนไร้บ้าน อย่างน้อย 2-3 คน และที่ปรึกษาของรองผู้ว่าฯ ร่วมเป็นคณะทำงานฯ ด้วย

นอกจากนี้ได้มีการหารือในเรื่องอื่น ๆ เช่น กองทุนคืนสิทธิ (กองทุนซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนกลุ่มที่รอพิสูจน์สิทธิ์ได้รับสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข) กรณีที่ถูกจำหน่ายด้วย ทร.97 (บุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง แล้วไม่ไปแสดงตนภายใน 180 วัน ตามที่กำหนด จึงถูกจำหน่าย) ความเป็นไปได้ในการตั้งทะเบียนบ้านเพื่อบุคคลไร้ที่พึ่ง เพื่อแก้ไขการไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ เป็นต้น