In Bangkok
กทม.เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงในกรุงเทพฯ ย้ำมาตรการคัดผู้ป่วยคลินิกเฉพาะทาง

กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังป้องกันโรคฝีดาษลิงในกรุงเทพฯ กำชับมาตรการคัดกรองผู้ป่วยคลินิกเฉพาะทาง
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงเตรียมความพร้อมมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน (ER) และในระบบผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึง รพ.ที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง อีกทั้งได้มอบหมาย รพ.สิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูล ควบคุม ดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่มีอาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุขทราบทันที ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมแนวทางปฏิบัติของสถานพยาบาลในสังกัด กทม. กรณีพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย มีอาการของโรคพึงสังเกตอาการจะคล้ายโรคฝีดาษ ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอ หรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่กรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัย จะแยกกักตัวทันที และรายงานข้อมูลตามแนวทางที่กำหนดต่อไป
นอกจากนั้น ยังได้เน้นย้ำแนวทางปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคแก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามมาตรการ Universal Prevention (UP) โดยให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย โดยเฉพาะลิงและหนู หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงและสิ่งของของผู้ป่วย รวมถึงลมหายใจของผู้ป่วย หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ ใช้ผ้าปิดจมูกและปากเมื่อไปในสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้สังเกตอาการ โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่าย ๆ มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด 19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษลิงได้
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัย ได้เตรียมความพร้อมมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเข้าร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการคัดกรอง เฝ้าระวัง สอบสวนโรคฝีดาษลิงกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขณะเดียวกันได้แจ้งสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ปฏิบัติตามแนวทางการคัดกรอง เฝ้าระวัง สอบสวนโรคฝีดาษลิง แนวทางการรายงานผู้ป่วยและการเก็บสิ่งส่งตรวจ แนวทางการบริหารจัดการเมื่อพบผู้ป่วยยืนยัน การป้องกันการแพร่กระจายใน รพ. และการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยสงสัยในสถานพยาบาลทุกแห่งและคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเก็บสิ่งส่งตรวจ เพื่อยืนยันการติดเชื้อ การสอบสวนและควบคุมโรค ตลอดจนให้ข้อมูลความรู้ประชาชน เรื่องฝีดาษลิง ทั้งลักษณะอาการ การป้องกัน และการดูแลรักษาโรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 รวมทั้งเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เฝ้าระวังและสังเกตอาการผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้บริการคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลและแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง ให้ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล สำนักงานเขต และโรงแรมในพื้นที่กรุงเทพฯ ทราบ