In Bangkok
สภากทม.เปิดให้10เขตเข้าชี้แจงเหตุผล การตั้งงบปี66ต่อคณะกรรมการวิสามัญฯ

กรุงเทพฯ-ประธานสภาเปิดให้ 10 สำนักงานเขตเข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็นการตั้งงบปี 66 ต่อคณะกรรมการวิสามัญฯ สภากทม.
(27 ก.ค.65) ณ อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สภากรุงเทพมหานคร ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณางบประมาณของสำนักงานเขตบางกอกน้อย บางพลัด ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ภาษีเจริญ หนองแขม บางขุนเทียน บางบอน บางเขน และประเวศ
ในช่วงเช้าที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณของสำนักงานเขตบางกอกน้อย และสอบถามการก่อหนี้ผูกพันในปี 64-65 ซึ่งเขตสามารถดำเนินการได้ครบทุกรายการ ในส่วนของการจัดเก็บภาษีทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีน้ำมัน ขณะนี้จัดเก็บได้ ร้อยละ 88.63 และคาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ครบ 100% จำนวน 88 ล้านบาททันปีงบประมาณ ทั้งนี้ ส.ก.ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับป้ายโครงที่ติดโฆษณาให้เช่าป้าย เขตต้องคิดภาษีด้วยเนื่องจากถือว่าเป็นการโฆษณาเช่นกัน รวมทั้งขอให้สำนักการคลังทำหนังสือเวียนชี้แจงแนวทางเพื่อให้สำนักงานเขตได้ถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกันทั้ง 50 เขต เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการส่งมอบถนนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตำรวจท้องที่ที่รับผิดชอบดูแลด้านการจราจร เพื่อให้สามารถควบคุมบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดกฎจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากนั้น …ลักขณา ภักดีนฤนาถ ส.ก.เขตตลิ่งชัน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณสำนักงานเขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯได้ประชุมและหารือร่วมกับเขตทั้งสองและมีมติปรับลดงบประมาณเขตละ 3 รายการ ทั้งนี้เขตตลิ่งชันมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี 5 ประเภท ยอดปัจจุบัน เป็นเงิน 88 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.90 เขตทวีวัฒนา มีรายได้จากการจัดเก็บภาษี 5 ประเภท ยอดปัจจุบัน เป็นเงิน 87 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 86.08 ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตหากกรุงเทพมหานครต้องการจัดเก็บภาษีให้ได้มากขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อสำรวจจริง แต่หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ที่จะต้องลงพื้นที่สำรวจไม่เพียงพอ จะทำให้กรุงเทพมหานครเสียโอกาสในการเก็บรายได้ ฝ่ายบริหารจึงควรให้ความสำคัญและจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ
ในส่วนของการพิจารณางบประมาณของสำนักงานเขตภาษีเจริญ เขตฯ ได้รายงานการจัดเก็บภาษี 5 ประเภท ปัจจุบันสามารถจัดเก็บได้กว่า 77 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.98 เขตหนองแขมรายงานการจัดเก็บภาษี 5 ประเภท ปัจจุบันสามารถจัดเก็บได้กว่า 91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.02 เขตบางเขนรายงานจัดเก็บภาษี 5 ประเภท ปัจจุบันสามารถจัดเก็บได้กว่า 117 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.21 เขตประเวศรายงานจัดเก็บภาษี 5 ประเภท จากประมาณการที่ตั้งไว้ คือ 210 ล้านบาท ปัจจุบันสามารถจัดเก็บได้กว่า 221 ล้านบาท เกินเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 105.04 เขตบางบอนรายงานจัดเก็บภาษี 5 ประเภท ปัจจุบันสามารถจัดเก็บได้กว่า 80 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.83 เขตบางขุนเทียนรายงานการจัดเก็บภาษี 5 ประเภท ปัจจุบันสามารถจัดเก็บได้กว่า 198 ล้านบาท เกินจากประมาณการที่ตั้งไว้ คือ 180 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 109.88
สำหรับเขตบางขุนเทียน นายณรงค์ศักดิ์ ม่วงศิริ ส.ก.เขตบางขุนเทียน ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณางบประมาณ ได้ตั้งข้อสังเกตความคุ้มค่าของลานกีฬา กับประโยชน์ที่ประชาชนส่วนรวมได้ใช้ หากเขตใดมีประชาชนใช้ลานกีฬาเป็นจำนวนมากและมีการบริหารจัดการเจ้าหน้าที่อาสาสมัครผู้ดูแลได้อย่างเหมาะสม กทม.ควรสนับสนุนงบประมาณให้มากขึ้น ตลอดจนการจ้างลูกจ้างประเภทต่าง ๆ ควรมีการคำนึงถึงวุฒิการศึกษาและเงินเดือนค่าจ้างให้เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯได้ให้ความสนใจในประเด็นของความสำคัญของลานกีฬาและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครลานกีฬาด้วยเช่นกัน
สำหรับในการประชุมระหว่างวันที่ 1-8 ส.ค. จะเป็นการพิจารณางบประมาณในส่วนของสำนักงานเขตปทุมวัน เขตคลองเตย หน่วยงานระดับสำนัก และหน่วยงานภายใต้กำกับของกรุงเทพมหานคร ดังนี้ วันที่ 1 ส.ค. พิจารณางบประมาณสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร สำนักการคลัง และหน่วยงานการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร (สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย) วันที่ 2 ส.ค. พิจารณางบประมาณสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช วันที่ 3 ส.ค. พิจารณางบประมาณสำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และสำนักพัฒนาสังคม วันที่ 4 ส.ค. พิจารณางบประมาณสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจและสำนักการจราจรและขนส่ง วันที่ 5 ส.ค. พิจารณางบประมาณสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการโยธา สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล และวันที่ 8 ส.ค. พิจารณางบประมาณสำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม และงบกลางของกรุงเทพมหานคร จากนั้นคณะกรรมการวิสามัญจะสรุปรวมงบประมาณที่ตัดและปรับลด