In Bangkok

กทม.บริหารจัดการขยะติดเชื้อช่วงน้ำท่วม พร้อมนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี



กรุงเทพฯ-สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.บริหารจัดการขยะติดเชื้อพร้อมนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

นายวิรัตน์  มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตปัญหาน้ำท่วม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้เกิดการสร้างขยะติดเชื้อจำนวนมาก จึงต้องบริหารจัดการขยะทั้งระบบ โดยเร็วและมีประสิทธิภาพว่า ปัจจุบันปริมาณขยะติดเชื้อในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะติดเชื้อสูงสุดในเดือนเมษายน เฉลี่ย 109 ตัน/วัน แบ่งเป็นขยะติดเชื้อทั่วไป เฉลี่ย 64 ตัน/วัน และขยะติดเชื้อโควิด 19 เฉลี่ย 45 ตัน/วัน เดือนพฤษภาคม มีปริมาณขยะติดเชื้อ เฉลี่ย 78 ตัน/วัน แบ่งเป็น ขยะติดเชื้อทั่วไป เฉลี่ย 58 ตัน/วัน และขยะติดเชื้อโควิด 19 เฉลี่ย 20 ตัน/วัน เดือนมิถุนายน มีปริมาณขยะติดเชื้อ เฉลี่ย 66 ตัน/วัน แบ่งเป็น ขยะติดเชื้อทั่วไป เฉลี่ย 57 ตัน/วัน และขยะติดเชื้อโควิด 19 เฉลี่ย 9 ตัน/วัน และเดือนกรกฎาคม (วันที่ 1-28) มีปริมาณขยะติดเชื้อ เฉลี่ย 64 ตัน/วัน แบ่งเป็น ขยะติดเชื้อทั่วไป เฉลี่ย 57 ตัน/วัน และขยะติดเชื้อโควิด 19 เฉลี่ย 7 ตัน/วัน

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้วางแนวทางบริหารจัดการขยะติดเชื้อที่จัดเก็บได้ โดยนำไปกำจัดโดยวิธีการเผาที่เตาเผามูลฝอยติดเชื้อ ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม ซึ่งมีขีดความสามารถในการกำจัดเฉลี่ย 70 ตัน/วัน และมีระบบบำบัดมลพิษตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันได้ตั้งวางถังขยะติดเชื้อ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการทิ้งขยะหน้ากากอนามัยและชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 (Antigen Test Kit : ATK) ในหมู่บ้าน ชุมชน เช่น ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่ทำการชุมชน โรงเรียน วัด มัสยิด เป็นต้น รวมถึงในพื้นที่สาธารณะและหน่วยงานสังกัด กทม. อาทิ สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ และสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม นอกจากนั้น ยังได้ประสานหน่วยงาน สถานประกอบการ และสถานที่ที่ตั้งถังรองรับขยะติดเชื้อ ให้แยกทิ้งชุดตรวจ ATK และหน้ากากอนามัยใช้แล้วอย่างถูกวิธีไม่รวมกับมูลฝอยทั่วไป และรวบรวมส่งให้รถเก็บขนขยะติดเชื้อเฉพาะ เพื่อ กทม.จะเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะต่อไป

ทั้งนี้ กทม.ได้รณรงค์ ให้คำแนะนำ เน้นย้ำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไปในครัวเรือน ผ่านการลงพื้นที่ของสำนักงานเขตและสื่อประชาสัมพันธ์ในช่องทางการสื่อสารของ กทม.อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำชับเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามข้อปฏิบัติในการจัดเก็บขยะในสถานการณ์โควิด 19 เช่น การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด การฆ่าเชื้อรถเก็บขยะก่อน-หลังการปฏิบัติงาน การรักษาระยะห่าง การห้ามฉีกถุงขยะ การแยกถุงขยะหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้อที่ประชาชนแยกทิ้งไว้ในช่องด้านหลังคนขับ การทำความสะอาดชุดและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เป็นต้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อโรค และความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน