In Bangkok

กทม.รณรงค์ให้ความรู้โรคเอดส์กลุ่มวัยรุ่น พร้อมจัดบริการเชิงรุกในสถานศึกษา



กรุงเทพฯ-สำนักอานามัย กทม.รณรงค์ให้ความรู้ป้องกันโรคเอดส์กลุ่มวัยรุ่น พร้อมจัดบริการเชิงรุกในสถานศึกษา - สถานบริการ    

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีประธานสมาคมเพศวิถีศึกษา แนะทบทวนวิธีการให้ความรู้การป้องกันโรคเอดส์และปรับวิธีรณรงค์สร้างความเข้าใจโรคเอดส์ในกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากพบวัยรุ่นไทยเป็นผู้ติดเชื้อ HIV หน้าใหม่เพิ่มขึ้นว่า จากข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในประเทศไทย ปี 2565 คาดว่า มีผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ 6,103 คน จากสัดส่วนการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ จะเห็นว่าแนวโน้มการติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มผู้ใหญ่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนการติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มเยาวชน หรือวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 24 ปี ยังคงมีอัตราการติดเชื้อที่ค่อนข้างสูงอย่างคงที่และมีสัดส่วนใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่ โดยในปี 2565 คาดว่า เป็นผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ ในกลุ่มเยาวชน อายุระหว่าง 15 - 19 ปี จำนวน 855 คน (ร้อยละ 14) อายุ 20 - 24 ปี จำนวน 2,121 คน (ร้อยละ 35) และวัยผู้ใหญ่ อายุ 25 - 49 ปี จำนวน 3,015 คน (ร้อยละ 49)

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ประสานการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งหน่วยงานภายในสังกัดและภายนอก กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข และภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงประชากรกลุ่มเป้าหมายที่มีภาวะเสี่ยงสูงในพื้นที่ พร้อมทั้งรณรงค์ให้กลุ่มประชากรเป้าหมายตรวจหาเชื้อ HIV และเข้าสู่บริการ (Recruit) ป้องกัน และดูแลรักษาได้อย่างครอบคลุม นอกจากนี้ ได้ทบทวนการรณรงค์เสริมสร้างความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน โดยจัดบริการอย่างผสมผสาน เช่น พัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาวะทางเพศแบบบูรณาการ ผ่านการใช้โปรแกรมคัดกรองออนไลน์ “ก๊วนทีน” เพื่อให้คำปรึกษาและป้องกันการเกิดปัญหาที่เกิดจากเพศภาวะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งได้ขยายผลการดำเนินงานไปยังสถานศึกษาหลายแห่งในกรุงเทพฯ โดยร่วมกับสำนักการศึกษา และองค์กรภาคประชาสังคม และการจัดกิจกรรมเชิงรุกในสถานศึกษา ส่งเสริมการเข้าถึงการคัดกรองและการตรวจรักษาโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยจัดกิจกรรมให้บริการเชิงรุกในสถานศึกษาระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา ในกลุ่มเยาวชนและการดำเนินงานเชิงรุกในสถานบริการ สถานบันเทิง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV ได้แก่ กลุ่มพนักงานบริการชาย-หญิง กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย รวมทั้งกลุ่มประชากรทั่วไป เน้นการให้ข้อมูลและประเมินผลความรู้โรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อ HIV โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการให้บริการตรวจคัดกรองโรคอื่น ๆ

ขณะเดียวกันได้พัฒนาการป้องกันการติดเชื้อ HIV ด้วยการให้ยาต้านไวรัสก่อนสัมผัสเชื้อ (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) ซึ่งเป็นมาตรการเสริมที่สนับสนุนการยุติปัญหาเอดส์ โดยให้บริการในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.17 แห่ง และขยายบริการไปยังโรงพยาบาลในสังกัด กทม.และสภากาชาดไทย เพื่อพัฒนาการดำเนินงานให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยบูรณาการผ่านระบบออนไลน์ขององค์กรภาคประชาสังคม เช่น การเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรม Event ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มประชากรหลักที่เข้าถึงยากให้มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังได้ปรับปรุงระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยให้กลุ่มวัยรุ่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ได้แก่ การสนับสนุนเรื่อง Normalize HIV และ Normalize Condom โดยมุ่งหวังให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ปลอดภัยและสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน ถุงยางอนามัย ได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งประชาสัมพันธ์รณรงค์ แจกถุงยางอนามัยอย่างครอบคลุมในกลุ่มประชากรเป้าหมายทุกกลุ่ม โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานเขต สำนักการศึกษา รวมทั้งจัดบริการยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันการติดเชื้อ (PrEP) โดยบริหารงบประมาณที่ได้รับในการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาเอดส์ ร่วมกับงบประมาณของโครงการ BMA-HTS โดยความร่วมมือของ กทม.และศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (TUC) คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลและสำนักการแพทย์ กทม.บูรณาการและพัฒนาการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพทางเพศ ตรวจและบริการให้ฮอร์โมน ตรวจคัดกรอง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มประชากรหลากหลายทางเพศ หรือคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมและปรับปรุงการให้บริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่เป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการติดเชื้อ HIV รายใหม่สูง โดยเริ่มจัดตั้งคลินิกสุขภาพทางเพศหลากหลายที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี และศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง