In Bangkok

3สำนักกทม.เฝ้าระวังเชิงรุกไข้เลือดออก หนุนจัดการพาหะนำโรคแล้ว2พันชุมชน



กรุงเทพฯ-สำนักอนามัย สำนักการแพทย์และสำนักการศึกษา กทม.เฝ้าระวังเชิงรุกป้องกันโรคไข้เลือดออก - สนับสนุนชุมชนจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสานแล้ว 2,016 ชุมชน

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจ้งเตือนเฝ้าระวังการระบาดของไข้เลือดออก รวมทั้งเสนอแนะให้เตรียมความพร้อมด้านการวินิจฉัยและรักษาพยาบาลหากเกิดการแพร่ระบาดว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกติดตามสถานการณ์และป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายทุกพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร ห้องชุดอาคารสูง สถานพยาบาล สถานศึกษา สถานประกอบการ และศาสนสถาน ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง จัดหน่วยรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคติดต่อที่นำโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคชิคุนกุนยา ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยแจกทรายเคลือบสารทีมีฟอส พร้อมแนะนำวิธีการใช้ทรายที่ถูกต้อง แจกตะไคร้หอม โลชั่นทากันยุง และจัดทำรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์          

นอกจากนั้น ยังได้รณรงค์ป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุม และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ เป็นประจำทุกเดือน โดยเน้นในพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม รวมทั้งสนับสนุนให้ชุมชนจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสาน ป้องกันโรคนำโดยยุงลาย โดยในปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มีชุมชนที่ดำเนินการแล้ว 2,016 ชุมชน ครอบคลุมทุกพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง ภายหลังได้รับการแจ้งข่าว โดยใช้มาตรการเร่งด่วนสำหรับการควบคุมการระบาด คือ ประกาศแจ้งเตือนประชาชน พร้อมทั้งให้สุขศึกษาแก่ประชาชน การกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านผู้ป่วยและบริเวณรอบบ้านอย่างน้อย 100 เมตร โดยมีดัชนีความชุกชุมลูกน้ำ (ค่า HI) ≤ 10) และพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยให้ครอบคลุมพื้นที่รอบบ้านผู้ป่วยในรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร นอกจากนี้ ยังได้จัดประชุมชี้แจงผู้ปฏิบัติงานและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานในพื้นที่ (สำนักงานเขต 50 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข) ปีละ 1-2 ครั้ง ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพทีม SRRT ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อที่นำโดยแมลง ฝึกอบรมพัฒนาทักษะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝึกอบรมพัฒนาทักษะการฉีดพ่นสารเคมี รวมทั้งพัฒนาทักษะการจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสานให้ผู้ปฏิบัติงานจากสำนักงานเขต 50 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และผู้แทนภาคประชาชน

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์ ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้นในโรงพยาบาลสังกัด กทม.เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการ และเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ด้วยการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคของโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกจากนั้น ยังได้จัดทำสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคติดต่อที่นำโดยยุงลาย รวมถึงวิธีสังเกตหากมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2-7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณชุมชนรอบโรงพยาบาลในสังกัด กทม.พร้อมจัดกิจกรรม Big Cleaning Day เป็นประจำทุกเดือน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้เข้าใช้บริการในโรงพยาบาล รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งพันธุ์ยุงลายบริเวณชุมชนและรอบบ้าน ปฏิบัติตามหลัก 5 ป ได้แก่ ปิด - ปิดฝาภาชนะให้สนิท ปล่อย - ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เปลี่ยน - เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ ปรับ - ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และปฏิบัติ - ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด รวมทั้งสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยง หากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก  กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูง ให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เนื่องจากยากลุ่มดังกล่าว อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น

นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา  กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษา ได้ประสานสำนักงานเขตแจ้งให้โรงเรียนในสังกัดทราบและขอความร่วมมือดำเนินการป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ประกอบด้วย การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในสถานศึกษาก่อนเปิดใช้อาคารเรียน รวมทั้งพื้นที่สาธารณะ เพื่อลดความหนาแน่นของยุงพาหะนำโรค ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่น โดยสามารถติดตามสถานการณ์โรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทางเว็บไซต์ของสำนักอนามัย www.bangkok.go.th/health หากพบผู้ป่วยให้รายงานเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคทันที ตลอดจนให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้าน วิธีป้องกันยุงกัด อาการที่ควรไปพบแพทย์ และวิธีการดูแลตนเองเมื่อสงสัยป่วยเป็นโรคติดต่อนำโดยยุงลาย