In Bangkok

กทม.เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยนร. บริเวณทางม้าลายหน้าโรงเรียน



กรุงเทพฯ-สำนักเทศกิจและสำนักการศึกษา กทม.เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยบริเวณทางม้าลายหน้าโรงเรียน

นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์เสนอข่าวครูถูกรถจักรยานยนต์ชนบริเวณทางม้าลายหน้าโรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง ขณะยืนโบกธงแดงหน้าโรงเรียนว่า สำนักเทศกิจตระหนักถึงความปลอดภัยของนักเรียนและประชาชนที่เดินข้ามถนน โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันบริเวณหน้าโรงเรียนในสังกัด กทม. จำนวน 437 โรงเรียน ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจของสำนักงานเขตดูแลความปลอดภัย 479 นาย โรงเรียนของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 35 โรงเรียน จำนวน 48 นาย โรงเรียนเอกชน 29 โรงเรียน จำนวน 40 นาย และจุดอื่น ๆ 2 แห่ง อีกจำนวน 2 นาย รวม 503 จุด มีเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแล 569 นาย/ผลัด รวม 2 ช่วงเวลาเช้า-เย็น จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลทั้งหมด 1,138 นาย/วัน พร้อมทั้งกำชับให้เพิ่มการสังเกตพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อดูแลการข้ามถนนของนักเรียนและประชาชนอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังได้ประสานสำนักงานเขตดินแดงให้ติดตามการแก้ไขดังกล่าว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบริเวณทางข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียนวิชูทิศอีกทางหนึ่งด้วย

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า สำนักการจราจรและขนส่งอยู่ระหว่างติดตั้งสัญญาณไฟจราจรคนเดินข้ามชนิดกดปุ่มบริเวณทางข้ามหน้าโรงเรียนวิชูทิศ ทั้งนี้ ในปี 2565 ได้รับงบประมาณให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่มบริเวณทางข้ามหน้าสถานศึกษา โรงพยาบาล ชุมชน และตลาด รวม 86 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างติดตั้ง นอกจากนั้น ยังได้จัดทำเส้นเตือนชะลอความเร็วและทางข้ามสีแดงโดยเฉพาะบริเวณทางข้ามหน้าโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และตลาดที่มีคนเดินข้ามถนนจำนวนมาก ส่วนสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้ามที่เป็นชุมชนและตลาดอีก 50 แห่ง ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว และในปี 2566 มีแผน ที่จะติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้ามเพิ่มเติมอีก 50 แห่ง รวมถึงติดตั้งป้ายจราจรเตือนทางข้ามกะพริบแสงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทางข้ามหน้าโรงเรียน

สำหรับการจัดทำคันชะลอความเร็วบริเวณหน้าโรงเรียน ปัจจุบันสำนักการจราจรและขนส่งจัดทำคันชะลอความเร็วในรูปแบบที่ใช้กับถนนภายในซอยที่กฎหมายกำหนดให้ขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. ซึ่งบางซอยจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียน หรือชุมชน ส่วนการจัดทำคันชะลอความเร็วบริเวณทางข้ามหน้าโรงเรียนที่ไม่ได้เป็นถนนภายในซอย หรือเป็นถนนที่กฎหมายกำหนดให้ขับขี่ด้วยความเร็วเกิน 30 กม./ชม. ต้องพิจารณารูปแบบที่ไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ขับขี่ยานพาหนะ นอกจากนี้ ยังต้องหารือกับผู้บังคับใช้กฎหมายจราจร ประกอบด้วย กองบังคับการตำรวจจราจรและกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อจัดทำคันชะลอความเร็วในรูปแบบที่เหมาะสม

นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษา มีแนวทางการเพิ่มมาตรการป้องกันอุบัติเหตุบริเวณทางข้ามหน้าสถานศึกษาในสังกัด กทม. โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในย่านชุมชน โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง ในด้านการเดินทางได้ประสานสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.ตรวจสอบสัญญาณไฟกระพริบและทางม้าลายบริเวณหน้าโรงเรียนให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งประสานกรมเจ้าท่า ตรวจสอบท่าเทียบเรือ เพื่อปรับปรุงให้มีความมั่นคงแข็งแรง อีกทั้งได้ประสานสำนักเทศกิจและสำนักงานเขตดูแลการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้นักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร รวมทั้งผู้ปกครองและประชาชน