In Bangkok

'ผู้ว่าฯชัชชาติ'ได้ปาฐกถา'จากเล็กสู่ใหญ่ฯ' ย้ำเส้นเลือดฝอยสำคัญพัฒนาการเมือง



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯชัชชาติ ปาฐกถา เรื่อง “จากเล็กสู่ใหญ่ : มองการเมืองและประเทศไทยแบบ 360 องศา" ย้ำเส้นเลือดฝอยเป็นสิ่งสำคัญการพัฒนาการเมือง

(26 ส.ค.65) เวลา 13.45 น. : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถานำ เรื่อง “จากเล็กสู่ใหญ่ : มองการเมืองและประเทศไทยแบบ 360 องศา” หนึ่งในการปาฐกถาและงานสัมมนานำเสนอยุทธศาสตร์เรื่อง “ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาการเมือง” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งจัดขึ้น โดยมี นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวเปิดงาน ร่วมด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ผู้แทนพรรคการเมือง นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ จำนวน 200 คน ร่วมรับฟัง ณ ห้องเทวกรรมรังรักษ์ สโมสรทหารบก (ส่วนกลาง) ถนนวิภาวดีรังสิต เขตพญาไท

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตย​คือความสำคัญของการสร้างระบบจากฐานราก​ที่เริ่มจากเล็กไปสู่ใหญ่ได้หน้าที่ของ กกต.ไม่ใช่แค่จัดเลือกตั้ง แต่ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย​ และสร้างความโปร่งใสให้กับคนได้ ถ้าหากเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้รู้สึกว่านักการเมืองน่ารังเกียจ​ นั่นคือการสร้างระบบจากฐานรากว่าประชาธิปไตย​มีความหมาย สร้างคำตอบให้ประเทศได้ 

นอกจากนี้​ จากเล็กไปใหญ่ หมายถึงความสำคัญของเส้นเลือดฝอยในการพัฒนาการเมือง​ เนื่องจากกรุงเทพฯ ก็เหมือนร่างกายคน มีเส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอย แต่ที่ผ่านมาชอบลงทุนกับเส้นเลือดใหญ่ แต่พอเป็นเส้นเลือดฝอยเข้าชุมชนเราอ่อนแอ ยิ่งเส้นเลือดฝอยตีบ ยิ่งทำงานไม่ได้ เช่น ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่เจ้าหน้าที่มีเพียง 80 คน แต่ต้องดูแลคนในชุมชน กว่า 100,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอ

"กรุงเทพฯ เราใหญ่ดี เช่นรถไฟฟ้าเรามีทุกสี​ เป็นสีรุ้ง แต่เส้นเลือดฝอยเปราะบาง ทางเดินไม่สะดวก​ รอรถตู้นาน​ รถประจำทางน้อย​ ต้องรอคิววินมอเตอร์ไซค์ มันคือระบบใหญ่ดี แต่เล็กไม่ดี แม้กระทั่งการจัดการขยะ แม้จะมีเตาเผาราคาหมื่นล้าน แต่หน้าบ้านก็ยังมีขยะอุดตัน ส่วนอุโมงค์​ยักษ์​ที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญ​อย่าละเลยเล็ก​ เช่น การลอกท่อระบายน้ำ" ชัชชาติ กล่าว 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ กล่าวอีกว่า จากผลการสำรวจความเห็นที่พบว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยว อันดับ 1 แต่เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 98 จาก 144 เมือง ดังนั้นหากทำเมืองให้น่าอยู่ขึ้น นักท่องเที่ยวจะอยากมาท่องเที่ยวเอง ดังนั้นจึงมีกรอบนโยบาย '9ดี' คือ บริหารจัดการดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี ปลอดภัยดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี เรียนดี และพัฒนามาเป็น 216 แผน 

"หลักการเอาชนะโลกได้คือ การหาเครือข่ายนอกองค์กร เพราะคนฉลาดส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในองค์กรเรา เราต้องหาแนวร่วม เพื่อจะหาคำตอบให้เมือง​ คนเก่งๆมีศักยภาพพร้อมทุกอย่างจึงเปรียบเสมือนยักษ์​ ดังนั้นเราไม่ต้องเป็นยักษ์​ แต่เราต้องได้ยักษ์มาเป็นพวกให้ได้​ แล้วอาศัยอยู่บนบ่ายักษ์เพื่อให้เราสามารถมองเห็นทุกอย่างได้กว้างไกลกว่า​ เพื่อไปถึงเป้าหมาย " ชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้​ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งได้จัดการศึกษาอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 12 (พตส. 12) และกำหนดให้นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 12 นำเสนอผลงานการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาการเมืองต่อสาธารณะ ซึ่งนักศึกษาฯ ได้กำหนดจัดงานสัมมนานำเสนอยุทธศาสตร์ ในวันที่ 26 ส.ค.65 โดยมีศาสตราจารย์​ ดร.​นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นประธานนักศึกษาพตส. รุ่นที่ 12 ซึ่งในงานจะมีการนำเสนอ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมือง” ของนักศึกษา พตส. รุ่นที่ 12 กลุ่มที่ 1 ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาพรรคการเมือง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ อุบาลี กลุ่มที่ 2 ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาสถาบันทางการเมือง (รัฐสภาไทย) โดย พล.ต.หญิง อังคณา สุเมธสิทธิกุล กลุ่มที่ 3 ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน โดย นายประวัติ เทียนขุนทด กลุ่มที่ 4 ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาลของ กกต. โดย นางณฐพร ชลายนนาวิน นอกจากนี้มีวิพากษ์ “ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาการเมือง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และดร.สธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ในงานดังกล่าวอีกด้วย