Travel & Entertain

คนนาดีฟื้นทำบุญกลอยประเพณีเก่าแก่หาดูยาก



ชาวนาดี ปราจีนบุรีจัดประเพณีทำบุญกลอย!...หนึ่งเดียวในประเทศ!! สืบสานวัฒนธรรมอาหารกลอย จากหัวกลอยธรรมชาติ ผ่านขั้นตอนทำอาหารอร่อยและหมดในเวลาอันรวดเร็ว

วันที่ 20 ก.ย.63 ที่วัดด่านตะกั่วสามัคคี ต.นาดี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี พระครูญาณ วัฒโนภาสเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลนาดี ร่วมกับญาติโยมในหมู่บ้านและใกล้เคียง ร่วมจัดกิจกรรมทำบุญประเพณี "บุญกลอย"  นำหัวกลอยที่ขึ้นอยู่ในป่ามาแปรรูปเป็นอาหารซึ่งถือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542

 บ้านด้านตะกั่วเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดภูเขาเทือกเขาใหญ่ ชาวบ้านออกหาหัวกลอยที่ขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติป่ามานึ่งกินแทนข้าวในสมัยก่อนและถือเป็นอาหารพื้นบ้านอย่างหนึ่งประจำหมู่บ้าน "กลอย" เป็นพืชตระกูลไม้เถามีหัวอยู่ในดินรูปร่างกลมหัวโตวัดโดยรอบ 15 ซม.หรือมากกว่า มีขนรอบหัวผิวสีน้ำตาล หากจะนำมาประกอบอาหารต้องขุดมาแล้วปลอกเปลือกแล้วหั่นเป็นแว่น ๆ บาง จากนั้นจะนำกลอยไปแช่น้ำเกลือทิ้งไว้ 3-4 คืน จากนั้นนำขึ้นมาจากน้ำเกลือไปแช่น้ำเปล่าอีก 4 คืน แล้วนำมาตากแดดไว้ 1 แดด ขั้นตอนดังกล่าวกลอยจะไม่มีสารมึนเมา เมื่อนำมานึ่งเหมือนข้าวเหนียวคลุกมะพร้าวน้ำตาล งา แค่นี้ก็เป็นเมนูอาหารพื้นบ้านได้แล้วกลอยมี 2 สี ตามธรรมชาติคือสีเหลืองกับสีขาว  ทางวัดจะขุดกลอยมาทำเป็นอาหารพื้นบ้านที่หากินยาก

ใน 1 ปี กลอยจะมีหัวช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ทางวัดจะทำข้อตกลงกับป่าไม้ว่า หากเข้าไปขุดกลอยจะต้องเอาส่วนโคนต้นที่ตัดทิ้งฝังไว้ เพื่อจะได้ขยายพันธุ์ได้อีกในปีถัดไป ทำแบบนี้กลอยจะมีอยู่ตลอดไปไม่สูญพันธุ์ แต่ละครั้งจะขุดกลอยมาประกอบอาหาร 2 ตัน เมื่อแห้งแล้วจะเหลือ1 ตัน โดยประมาณ วันงานชาวบ้านจะรวมตัวกันออกมานึ่งกลอยถวายพระ พระฉันเสร็จก็จะทำทานแจกญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด

ทุกๆ ปี    จะมีคนมาร่วมทำบุญ 400-500 คน ทางวัดจะมีการเลี้ยงโรงทานควบคู่กันไป แต่ส่วนใหญ่ประชาชนจะนำถุง หรือปิ่นโตมาเอากลอยกลับไปกินที่บ้าน โดยแม่ครัวจะเป็นคนแจกทุกคนในวันนี้ส่วนใหญ่จะพากันมาขอกลอยกลับไปกินที่บ้านคนละ 1 กก.ข้าวจะไม่มีคนกินเหลือเต็มหม้อทุกปี  และไม่พอแจกจ่าย ภายในงานมีนายนพดล งามเหลือ นายอำเภอนาดี อดีต สส.เพช็รรินทร์ เสียงเจริญ(สส.แหม่ม) ร่วมทำบุญในครั้งนี้ด้วย.

มานิตย์    สนับบุญ/ปราจีนบุรี