In Bangkok

ผู้ว่าฯชัชชาติประชุมคณะผู้บริหารกทม.สั่ง จับตาพายุโนรู-เลิกบัตทอง9รพ.กทม.



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯชัชชาติประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร จับตาพายุโนรู เลิกสิทธิบัตรทอง 9รพ. Traffy Fondue เปิดระบบใหม่ ให้ประชาชนแจ้ง-เช็คจุดน้ำท่วมได้เอง

(26 ก.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 21/2565  ในประเด็นสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้รับผลกระทบจากพายุโนรู ในวันที่ 28-29 กันยายน 2565 โดยมี คณะผู้บริหารกทม. ร่วมให้ข้อมูล ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

• ชี้แจงสถานการณ์น้ำ พร้อมรับมือพายุโนรู

“ปริมาณฝนสะสมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดือน กันยายน 2565 มีปริมาณ 744.5 มม. เฉลี่ยฝน 30 ปี 258.0 มม. มากกว่าค่าเฉลี่ย คิดเป็น 188.5 % ภาพรวมจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ลานินญ่าซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกรุนแรงมากขึ้น แต่ถึงฝนจะเพิ่มมากขึ้น กทม.ก็สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้นด้วย สำหรับพายุที่จะเข้ามาหากขยับมาล่างก็จะโดนกทม. จึงได้สั่งให้สำนักการระบายน้ำจัดทำฉากทัศน์จำลองสถานการณ์  2 รูปแบบ คือ รูปแบบของน้ำเหนือที่กำลังจะเข้ามา และรูปแบบระดับน้ำหนุนในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งให้ทำแผนเตรียมรับทางด้านสถานการณ์กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก และแผนรองรับกรณีน้ำหนุนในแม่น้ำเจ้าพระยา” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

นอกจากนี้ผู้ว่าฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำให้มากที่สุด และเสริมคันกั้นน้ำบริเวณจุดอ่อน ซึ่งขณะนี้ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อกระสอบทราย 2.5 ล้านกระสอบแล้ว และให้ชุมชนช่วยป้องกันตัวเองด้วยในเบื่องต้น ให้ชุมชนเป็นแนวร่วมป้องกันน้ำท่วม โดยกทม.สนับสนุนอุปกรณ์ เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายในระดับหนึ่ง 

ด้าน นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารแบ่งพื้นที่ดูแล 6 กลุ่มเขต ภาพรวมขณะนี้สามารถขุดลอกคลองและจัดเก็บผักตบชวาได้ 100% รวมถึงการลอกท่อระบายน้ำ เรียงกระสอบทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา การตั้งวางเครื่องสูบน้ำ โดยร่วมกับหลายหน่วยงาน รวมถึงเตรียมจุดพักฉุกเฉินไว้รองรับ ในส่วนของการเตรียมระบบป้องกันฝนแบ่งเป็นก่อนเกิดฝนตก จะแจ้งเตือนก่อน 2 ชั่วโมง เพื่อให้เขตเตรียมพร้อมและลงพื้นที่ตรวจตราความพร้อม และเมื่อเกิดเหตุฝนตก จะจัดเตรียมหน่วยช่วยเหลือประชาชน รถรับ-ส่ง ศูนย์ซ่อม รถลาก เพื่ออำนวยความสะดวกในเส้นทางต่างๆ และจัดเจ้าหน้าที่เก็บขยะหน้าตะแกรง ทั้งนี้หากประชาชนได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งได้ที่ หมายเลข โทร.199

นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ระบบ Traffy Fondue ได้เปิดระบบใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรายงานปัญหาน้ำท่วม และสามารถตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วมได้ด้วย 

“ที่ผ่านมาจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ต้องรายงานเพียงอย่างเดียว และเจ้าหน้าที่จะไม่รู้เท่ากับประชาชนในพื้นที่ ระบบจะเปิดให้อัพเดทสถานการณ์น้ำในสัปดาห์นี้ ประชาชนสามารถแจ้งได้ทั้งกรณีที่น้ำท่วมและลดลง จากนี้ไปประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่” โฆษก กทม. กล่าว

• สร้างความร่วมมือเครือข่าย รพ.  นำเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมรองรับประชาชนที่ถูกยกเลิกสิทธิบัตรทอง รพ. 9 แห่ง

ด้าน ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรณีประเด็นที่ทาง สปสช. ยกเลิกบัตรทองกับโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 9 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีประชาชนประมาณ 220,000 คน ที่ทางสปสช.ต้องจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิในการรองรับ และประมาณ 690,000 คน ที่จะต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ซึ่งการยกเลิกสิทธิจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ม.ค. 66 แต่ในช่วงระหว่าง 1 ต.ค. – 31 ธ.ค. 65 ทางสปสช. จะช่วยสิทธิบัตรทองไปก่อน โดยใน 3 เดือนนี้ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ใช้สิทธิบัตรทองยังสามารถใช้บริการใน 9 โรงพยาบาลที่ยกเลิกได้อยู่ ซึ่งในส่วนของกทม. ก็ได้ดำเนินการพร้อมรับผู้ป่วยนอก จำนวน 220,000 คน ซึ่งสามารถเข้ารับบริการที่สถานบริการใกล้บ้าน ณ หน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่ง คือหน่วยบริการสาธารณสุข ทั้ง 69 แห่ง และศูนย์บริการสาขา 73 แห่ง รวมทั้งคลินิกอบอุ่นประมาณ 213 แห่ง ซึ่งสปสช.ดูแลอยู่

โดยมีผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง อยู่จริง ๆ  ประมาณ 20,000 คน จาก 220,000 คนของผู้มีสิทธิ และมีผู้ใช้บริการเป็นประจำกับศูนย์ปฐมภูมิ ประมาณ 5,000 คน ดังนั้นจะมีประมาณ 20,000 คนที่ใช้สิทธิในโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้ที่มีสิทธิบัตรทองสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา คลินิกชุมชนอบอุ่น จะรองรับจำนวนผู้มีสิทธิได้ทั้งหมด โดยที่ทาง สปสช. ได้วางแผนเพิ่มเติม ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค. สปสช.จะเพิ่มคลินิกอบอุ่นให้มากขึ้น โดยมีการนำคลินิกเวชกรรมบางประเภทมาเป็นคลินิกที่ทาง สปสช. ให้สิทธิครอบคลุมไปถึง รวมทั้งร้านขายยาด้วย ขณะนี้มีร้านขายยาที่อยู่ในการกำกับและพยายามให้กับสิทธิบัตรทองประมาณ 300 แห่ง ทั้งหมดนี้ถ้าทำได้ ทั้งร้านขายยา ทั้งคลินิกอบอุ่น คลินิกเวชกรรมบางประเภท ศูนย์บริการสาธารณสุขหลัก และศูนย์สาธารณสุขสาขาของ กทม. รวม ๆ แล้ว จะมีหน่วยปฐมภูมิประมาณ 700 หน่วย ที่ประชาชนสามารถไปใช้บริการได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 3 เดือนนี้ ผู้ที่ถือสิทธิบัตรทองที่ถูกยกเลิกนี้ ถือว่าเป็นสิทธิว่างที่สามารถไปที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ศูนย์บริการปฐมภูมิใดก็ได้ที่ให้บริการสิทธิบัตรทอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวล ถ้าหากไปใช้บริการที่ไหนแล้วใกล้บ้าน รู้สึกชอบ ขอให้ลงทะเบียนที่นั่น ซึ่ง กทม.ยังรองรับได้อยู่

ขณะนี้ กทม.กำลังใช้ระบบ Telemedicine ระบบ Teleconsult ในศูนย์บริการสาธารณสุข  โดยปัจจุบันมี Sandbox อยู่ 2 แห่ง ได้แก่ Sandbox ดุสิต Model และ Sandbox ราชพิพัฒน์ Model ซึ่งจะมีแพทย์ที่เป็นกำลังหลักในโรงพยาบาลให้คำปรึกษาในระบบ Telemedicine ระบบ Teleconsult ด้วย และจะมีการขยายไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา และพยายามคลินิกอบอุ่น และร้านขายยาให้ได้ตามที่ สปสช. กำลังขยายอยู่ ซึ่งน่าจะทำให้ประชาชนมีความอุ่นใจและเชื่อมั่นในระบบการให้บริการปฐมภูมิได้ 

ในส่วน 690,000 คน ที่ต้องหาระบบส่งต่อนั้น แบ่งเป็น โรงพยาบาลในสังกัดกทม. 12 โรงพยาบาล ตอนนี้มีอัตราเดิมที่ให้สิทธิบัตรทอง จำนวน 30% ของเตียงทั้งหมด ซึ่งทางกทม.จะโควตาที่ให้สิทธิกับบัตรทอง ถ้าสามารถขยายได้ 2 เท่า เป็น 60% จะครอบคลุมประชากรทั้งหมดนี้ แต่ทั้งนี้ก็เข้าใจว่าโรงพยาบาลสังกัดกทม. โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่กลางใจเมืองและมีความหนาแน่น อัตราการครองเตียงค่อนข้างตึง อาจจะทำให้ขยายได้ไม่ถึง 2 เท่า 

“สิ่งที่ทาง สปสช. กับ กทม. ทำร่วมกันคือ นอกจากขยายจำนวนเตียงในโรงพยาบาลสังกัดกทม. แล้ว ยังร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลอื่น เช่น โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลของเอกชนบางแห่ง โรงพยาบาล UHosNet เป็นต้น ซึ่งจะช่วยขยายเตียงของสิทธิบัตรทอง เมื่อเกิดความร่วมมือกัน นอกจากจะมีเตียงพอที่จะรองรับแล้ว ยังรวมถึงการมีโรงพยาบาลใกล้บ้านมากขึ้น การได้ความร่วมมือของเครือข่ายโรงพยาบาลในทุก ๆ สังกัดมารวมกัน จะช่วยให้สามารถดูแลประชาชนทั้งหมดได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ได้” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า จริง ๆ แล้ว ได้ให้นโยบายไปกับรองผู้ว่าฯ ทวิดา ว่า ต้องนำเอาวิกฤติมาเป็นโอกาส ซึ่งจังหวะในการเปลี่ยนถ่ายและต้องรับปฐมภูมิเพิ่มเป็นจังหวะที่ดี ที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับระบบปฐมภูมิของโรงพยาบาลกทม. หรือศูนย์บริการสาธารณสุขกทม. ทำให้มีการทบทวนและเพิ่มศักยภาพของศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งจริงๆ แล้ว การทำศูนย์ปฐมภูมิเป็นหัวใจของกทม. อยู่แล้ว ซึ่งกทม.เป็นเจ้าภาพหลัก และการมีเครือข่ายชุมชน คลิกนิกอบอุ่นที่เข้มแข็งขึ้น การเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลต่าง ๆ การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นในระยะยาว เหตุการณ์นี้ทำให้กทม. กับ สปสช.ทำงานอย่างใกล้ชิด เป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งต่อกัน ในระยะยาวจะทำให้กกทม. มีการบริการที่ดีขึ้นและสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนกลับคืนมา 

• ขอประชาชนใช้พื้นที่ Drop in 4 แห่ง ส่งมอบอาหารให้คนไร้บ้าน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องของคนไร้บ้านและคนจนเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน ปัจจุบันในพื้นที่กทม.มีคนไร้บ้าน 1,600 คน จำนวน 5%เป็นคนจิตเวช ที่เหลือเป็นผู้ที่พัฒนาได้ ซึ่งกทม. ได้จัดพื้นที่บริการเฉพาะกิจ (Drop in) 4 แห่ง เพื่อเป็นจุดแจกอาหาร และติดตามช่วยเหลือคนไร้บ้าน เพื่อให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย จุดแจกอาหารเขตพระนคร ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตรอกสาเก ร่วมกับมูลนิธิอิสรชน สถานีรถไฟหัวลำโพง ร่วมกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพฯ ถนนราชดำเนินกลาง ร่วมกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพฯ และจะเพิ่มอีก  1จุด บริเวณนานา/อโศก เพื่อดูแลคนไร้บ้านในจุดดังกล่าวซึ่งมีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งจุด Drop in นอกจากจะเป็นจุดแจกอาหารแล้ว ยังเป็นที่จัดหาแรงงานเพื่อให้คนไร้บ้านกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  การให้ความช่วยเหลือตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ร่วมกับหลายหน่วยงาน ซึ่งต้องขอให้ประชาชนร่วมกัน หากประสงค์แจกอาหารขอให้ไปที่จุดซึ่งกำหนดไว้ 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คนไร้บ้านไม่ใช่คนไร้สิทธิ เขาเป็นประชาชนเหมือนคนทุกคน วิธีการแก้คือให้เขาเข้าถึงสิทธิ ทั้ง 4 จุด  จริง ๆ แล้วมีประชาชนที่มีจิตใจดีนำอาหารมามอบให้มากมาย ซึ่งหากมอบนอกจุดจะทำให้คนไร้บ้านไม่เข้าถึงสิทธิอื่นๆ หากเป็นไปได้ขอให้เอาอาหารไปที่จุด Drop in ทำให้เป็นจุดเดียว สำหรับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม จะไม่จับปรับ แต่กทม.ขอความร่วมมือเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่