In Bangkok

กทม.หาแนวทางดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด หลังปรับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง1ต.ค.นี้



 กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม.เตรียมพร้อมแนวทางดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 หลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายสู่โรคเฝ้าระวังในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สำนักการแพทย์ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานภายหลังประกาศให้โรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค.65 ประกอบด้วย (1) ปิดโรงพยาบาล (รพ.) สนามเอราวัณ 3 (ทุ่งครุ) (2) ให้ รพ.ทุกแห่ง เปิด 1 แผนก (ward) สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด 19 (กรณีที่มาด้วยโรคอื่นแล้วตรวจพบเชื้อโควิด 19) (3) ผู้ป่วยสีเขียวให้เข้าโครงการเจอ แจก จบ โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. (4) รพ.ราชพิพัฒน์ รับผู้ป่วยกรณีส่งต่อจาก รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน (5) รพ.สิรินธร รับผู้ป่วยกรณีส่งต่อจาก รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร และ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ (6) ผู้ป่วยสีแดงส่งไปที่ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ และ รพ.สิรินธร และ (7) การเบิกจ่ายให้เบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ขณะเดียวกัน กทม.ยังร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ ทั้งมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ เตียง การเข้าถึงยาต้านไวรัส การรักษา มาตรการทางสังคมและวัคซีน รวมถึงการร่วมมือสนับสนุนบริหารจัดการสถานการณ์ เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยขณะนี้สถานการณ์เตียงของ กทม.ยังสามารถบริหารจัดการและขยายเพิ่มได้ แต่ต้องบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้ระบบส่งต่อไร้รอยต่อ โดย กทม.มีศูนย์เอราวัณ เป็นผู้ประสานส่งต่อผู้ป่วยใน 6 โซนหลัก ส่วนความครอบคลุมการได้รับวัคซีนโควิด 19 ของพื้นที่กรุงเทพฯ จากการสนับสนุนวัคซีนของ สธ.ทำให้ทุกจุดบริการพร้อมให้บริการ โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 100% และวัคซีนเข็มกระตุ้นเกินกว่า 80% รวมทั้งขยายวันจัดบริการฉีดวัคซีนในวันเสาร์ และจัด บริการเชิงรุกถึงบ้านผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการรับวัคซีน นอกจากนี้ สำนักการแพทย์ ยังได้วางแผนเตรียมจัดซื้อยาต้านไวรัสตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.65 พร้อมสำรวจข้อมูลบริษัทผู้จัดจําหน่ายที่ได้รับอนุญาตนำเข้า เนื่องจากยาต้านไวรัสทุกชนิด เป็นยาอันตรายและอยู่ในยาควบคุม ต้องสั่งโดยแพทย์ อย่างไรก็ตาม สธ.พร้อมที่จะสนับสนุนแผนบริหารจัดการบูรณาการการดูแลผ่านคณะกรรมการ กทม.ที่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน และสนับสนุนการสำรองยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุก รพ.มียาใช้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ติดเชื้อและอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับยาตามแนวทางของกรมการแพทย์

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัย ได้เตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 สู่โรคเฝ้าระวังในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามกรอบ รวมทั้งจัดแผนรองรับฉุกเฉินหากสถานการณ์โควิด 19 กลับมาแพร่ระบาดในพื้นที่ โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.สามารถใช้อำนาจประกาศให้เป็นโรคระบาดและใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการได้ก่อน โดยการดำเนินการในระยะเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรค ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาล ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลสารสนเทศ และด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มที่ 3 ให้ได้ 70% และควรดูแลตนเอง โดยสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ประเมินความเสี่ยงเป็นประจำ และถอดหน้ากากได้หากอยู่ในที่โล่ง