In Bangkok
สก.ยื่นญัตติถามแก้ปัญหาน้ำท่วมกทม. การป้องกันและช่วยเหลือระยะสั้นระยะยาว

กรุงเทพฯ-ประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อเสนอญัตติ โดยมี ส.ก. เรียกร้องกทม. ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะสั้น ระยะยาว โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออก
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตลาดกระบัง เปิดเผยว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร วันนี้ (28 ก.ย.65) ได้ยื่นญัตติเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจและปรับปรุงผิวถนนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพมหานคร โดยขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจและปรับปรุงผิวถนนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จากสถานการณ์ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 เป็นต้นมา ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพมหานครเป็นเวลานาน ส่งผลให้ผิวถนนมีสภาพชำรุด เป็นหลุมบ่อและมีน้ำท่วมขังตลอดเส้นทาง อาจเกิดอุบัติเหตุส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและทรัพย์สินเสียหายได้ ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้ถนนในการสัญจร ดังนั้น เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่ ปลอดภัย และเดินทางได้โดยสะดวก กรุงเทพมหานครควรสำรวจและปรับปรุงผิวถนนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร
“ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมร้องเรียนว่าไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากไม่สามารถเข้าหลักเกณฑ์การรับเงินเยียวยาที่กำหนดไว้ โดยเกณฑ์ที่ต้องให้ประชาชนไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนั้นทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกอย่างมาก หากปรับเกณฑ์ให้สำนักงานเขตเป็นผู้ออกเอกสารได้จะเป็นประโยชน์มากกว่า เนื่องจากเขตจะรู้ปัญหาและสภาพจริงของประชาชน นอกจากนี้ปัจจุบันมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากพื้นผิวถนนที่ชำรุดเนื่องจากน้ำท่วมหลายแห่ง อาทิ ถนนประชาพัฒนา หน้าโครงการเอื้ออาทร-แยกนิคมนำไกร ถนนร่มเกล้า 19 , 23-25 และซอยแยก ถนนฉลองกรุง 49 ถนนฉลองกรุง 53 ถนนเคหะร่มเกล้า 64 เป็นต้น ดังนั้น จึงขอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ไขปัญหา 2 ระยะ คือ ระยะสั้น 1.ขอให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการช่วยเหลือผู้ประสบภัย 2.เร่งสำรวจและปรับปรุงพื้นผิวถนนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ระยะยาว 1.ขุดลอกคูคลองเพื่อเพิ่มการรับน้ำ เช่น คลองประเวศบุรีรมย์ คลอง 1-4 และคลองทับยาว 2.สร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำ”
ในประเด็นดังกล่าว ได้มีส.ก.ร่วมแสดงความเห็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่เขตหนองจอกไม่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ แต่หากน้ำที่เขตลาดกระบังไม่แห้งที่เขตหนองจอกก็จะไม่แห้งเช่นเดียวกัน รวมทั้งถนนในพื้นที่หลายสายเป็นพื้นที่ต่ำ ที่มีคันกั้นน้ำ อาทิ ถนนเคหะฉลองกรุง เมื่อเกิดฝนตกต้องเร่งเดินเครื่องสูบน้ำทันที เช่นเดียวกับซอยทางเข้าวัดอู่ตะเภา สุวินทวงศ์ 17 ถนนเลียบคลองลำต้นไทร พื้นที่กรุงเทพตะวันออกมีปัญหาหลายพื้นที่เมื่อปัญหาคลี่คลายลงจึงขอให้กรุงเทพมหานครเร่งแก้ไขปัญหาให้ด้วยเช่นกัน
นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุฝนตกถนนนวมินทร์และถนนนวลจันทร์จะเกิดน้ำท่วมขังเต็มฟุตบาทบ่อยครั้ง จึงขอให้กรุงเทพมหานครดูแลหมู่บ้านและชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพมหานครด้วย นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา กล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วมประชาชนในพื้นที่คลองสามวาพยายามที่จะช่วยเหลือตนเองเต็มที่ ซึ่งเขตก็พยายามให้ความสนับสนุน แต่เนื่องจากพื้นที่ 110 ตารางกิโลเมตร มีคลองหลายสาย แต่มีเครื่องสูบน้ำที่ใช้งานได้เพียง 9 เครื่อง จึงขอให้ฝ่ายบริหารสำรวจความต้องการของพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก และเตรียมคลองให้พร้อมในการรับน้ำ ซึ่งอีกไม่กี่วันจะมีพายุโนรูเข้าพื้นที่จึงต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะในพื้นที่ซอยประชาร่วมใจ 57 ถนนพระยาสุเรนทร์ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ขอให้พิจารณาการประกันราคาข้าวและผลผลิตเกษตรอื่นๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วย ซึ่งสภากรุงเทพมหานครจะทำหน้าที่สะท้อนภาพปัญหาเพื่อให้คณะผู้บริหารกทม.ร่วมกันแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ยังมีส.ก.แสดงความคิดเห็นในประเด็นความเดือดร้อนของประชาชน การขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันและแก้ไขน้ำท่วม ขั้นตอนการเยียวยาที่ไม่เหมาะสม และประสิทธิภาพของระบบการระบายน้ำของกทม.หลายท่าน ได้แก่ นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท นายตกานต์ สุนนทวุฒิ ส.ก.เขตหลักสี่
ด้านผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย สามารถใช้ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ได้ แต่ในขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการปรับแก้หลักเกณฑ์ให้เหมาะสมและจะนำมาใช้ในปี 65 สำหรับการประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยเฉพาะ 6 แขวง ในเขตลาดกระบัง ตามอำนาจผู้ว่าฯกทม. นั้น เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 6 แขวง มีความเสียหายสูงและมีความต่อเนื่อง ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ออกประกาศเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปในทิศทางกัน อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครสามารถส่งความช่วยเหลือให้ประชาชนได้ทันที ทั้งการส่งมอบกระสอบทราบ ยา เวชภัณฑ์ ซึ่งจะปรับปรุงระบบการแจกจ่ายเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขอบคุณส.ก.ที่เห็นข้อติดขัด และจากความห่วงใยของส.ก. จะนำไปประกอบการแก้ไขข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องต่อไป
ในส่วนของเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้ประสบภัยต้องแจ้งสถานีตำรวจในพื้นที่ด้วย จะมอบให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ร่วมกับสำนักงานเขต ประสานตำรวจ เพื่อลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และยืนยันหลักฐานร่วมกัน เพื่อประกอบในการเบิกจ่ายตามระเบียบของกรมบัญชีกลางด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้สปภ.จัดทำคลังเพื่อรวบรวมสิ่งของที่ต้องใช้ในเวลาฉุกเฉินใหม่ โดยร่วมกับสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย จัดหายาที่จำเป็นเบื้องต้น รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนการเบิกจ่ายให้ยืดหยุ่น รวดเร็วขึ้น โดยที่ไม่ผิดหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการปรับปรุงผิวถนนในพื้นที่กรุงเทพฯตะวันออก ว่า จะนำข้อมูลจากส.ก. ข้อมูลจากเขต และการร้องเรียนจากประชาชนมาใช้ประกอบการแก้ไขหลังสถานการณ์น้ำดีขึ้น ในส่วนการควบคุมประตูน้ำจำเป็นต้องดูแลระดับเพื่อไม่ให้กระทบประชาชนริมตลิ่งเนื่องจากขณะนี้มีน้ำเติมจากคลองย่อยสูง แต่ในระยะเร่งด่วนจะได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ และระยะต่อไปจะขุดลอกคลองให้ลึกขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตเพื่อให้ระบายน้ำออกจากพื้นที่กรุงเทพฯได้เร็วขึ้น ส่วนอุโมงค์ยักษ์ได้ใช้วิธีการกันน้ำบางส่วนให้เลี้ยวเข้าสู่อุโมงค์ให้มากขึ้นด้วย