Biz news
เปิดมุมมองทำความรู้จักกับ 'Equity' ความเสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน

กรุงเทพฯ-ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความเท่าเทียมทางเพศหรือ Equality เป็นหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจและเข้ามามีบทบาทในการกำหนดบรรทัดฐานทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมการทำงาน เห็นได้จากการที่หลายบริษัททั่วโลกได้มีการเพิ่มนโยบายเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมของพนักงานในด้านความแตกต่างของเพศ เชื้อชาติ และในอีกหลาย แง่มุม เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขตามหลักมนุษยธรรม
แนวคิดดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย โดยในปี 2566 เกิดแนวคิดคลื่นลูกใหม่อย่าง “ความเสมอภาค” หรือ “Equity” ว่าด้วยการสนับสนุนความแตกต่างที่หลากหลายของแต่ละบุคคลโดยไม่คำนึงถึงเพศ พนักงานทุกเพศจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเท่าเทียม (Equality) หรือมีโอกาสอย่างเท่าเทียมและมุ่งเน้นการปฏิบัติต่อพนักงานแต่ละคนให้สอดคล้องกับความต้องการและลักษณะเฉพาะบุคคล ด้วยการจัดหาเครื่องมือ โอกาส หรือการสนับสนุน ให้สามารถแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเสมอภาคและปราศจากข้อจำกัด
ล่าสุดธนาคารซิตี้แบงก์ มุ่งย้ำจุดยืนในฐานะสถาบันการเงินที่สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศในองค์กร ผ่านการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้แนวคิด Embrace Equity โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารหญิงระดับสูงจากหลากหลายองค์กรชั้นนำร่วมแบ่งปันแนวคิดการสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศในมิติต่าง ๆ โดย “ธนาคารซิตี้แบงก์” ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนความเสมอภาคให้แก่พนักงานทุกคนในที่ทำงานมาโดยตลอด และเพื่อเป็นการส่งท้ายเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความเสมอภาคทางเพศอย่างวันสตรีสากลซึ่งพึ่งผ่านมาไม่นานมานี้ ธนาคารซิตี้แบงก์ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับความเสมอภาคทางเพศภายในองค์กรให้มากขึ้น สะท้อนผ่านมุมมองของสองนักบริหารหญิง ผู้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธนาคารซิตี้แบงก์ให้เป็นสถาบันการเงินเพื่อลูกค้าสถาบันชั้นนำแห่งประเทศไทย
แป้น - ชนาวรรณ กัลยาณมิตร: บทบาทที่หลากหลายท้าทายของผู้บริหารหญิงสุดแกร่ง
จากประสบการณ์ทำงานกว่า 9 ปี ที่ธนาคารซิตี้แบงก์ ปัจจุบัน “แป้น - ชนาวรรณ กัลยาณมิตร” ในวัย 40 ปี ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Data Protection Officer อีกหนึ่งอาชีพที่มีความสำคัญในยุคที่ข้อมูลจำนวนมหาศาลถูกอัปโหลดในระบบดิจิทัล โดยหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญคือการดูแลรักษาข้อมูลของธนาคารไม่ให้เกิดการรั่วไหล อีกทั้งยังให้คำปรึกษาและตรวจสอบการใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นไปตามกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย โดยเธอเล่าถึงบทบาทที่สำคัญนี้ผ่านแววตาที่มีพลังว่า
“ตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายนี้เป็นหน้าที่สำคัญที่บริษัทในยุคนี้ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันธนาคารที่มีบริการธุรกรรมดิจิทัลหลากหลายรูปแบบซึ่งมีข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าและพนักงานจำนวนมหาศาล งานที่มีความรับผิดชอบสูงย่อมมาพร้อมความกดดัน แต่ความท้าทายเป็นสิ่งที่เรามองหาในการทำงานอยู่แล้ว ประกอบกับซิตี้แบงก์ให้โอกาสและการสนับสนุนด้านหน้าที่การงานของเราอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นของพนักงานทุกคน ทำให้การทำงานในทุกวันเป็นเรื่องสนุก และท้าทายขีดความสามารถของตัวเองอยู่ตลอดเวลา”
“ยิ่งไปกว่านั้นวัฒนธรรมองค์กรและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ซิตี้แบงก์ยังให้ความสำคัญกับความเสมอภาค (Equity) ในสถานที่ทำงานสูงมาก โดยปกติสังคมมักมีภาพจำที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมสำหรับคนในสายการเงิน-การธนาคาร ซึ่งธนาคารซิตี้แบงก์ได้พยายามทลายข้อจำกัดต่าง ๆ ดังกล่าว ผ่านหลากหลายแนวทางอาทิ การจัดเวทีการพูดเพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ รวมไปถึงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นสำหรับพนักงานทั้งเพศชาย เพศหญิง และพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนได้อย่างอิสระ พร้อมสร้างความมั่นใจว่าทุกคนสามารถมีโอกาสก้าวหน้าทางอาชีพโดยไม่มีปัจจัยอื่น ๆ มาตัดสินนอกจากความสามารถของตัวเองได้ที่นี่” ชนาวรรณ กล่าว
นอกจากนี้ความเสมอภาคไม่เพียงถูกนำมาใช้กับหน้าที่การงานเท่านั้น ซิตี้แบงก์ยังให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงในทุกมิติสำหรับชนาวรรณยังมีอีกบทบาท คือการเป็นคุณแม่มือใหม่ โดยธนาคารซิตี้แบงก์ได้สนับสนุนการรับบทบาทเป็นพ่อ-แม่ของพนักงาน (Maternity and Fraternity matters) ด้วยสวัสดิการวันลาสูงถึง 4 เดือน สำหรับทั้งพนักงานชายและหญิง พร้อมการทำงานในรูปแบบ Hybrid Work Place เลือกทำงานได้ทั้งจากที่บ้านหรือที่สำนักงาน พร้อมสนับสนุนผู้หญิงในวงการธนาคารให้เต็มที่กับบทบาทที่หลากหลายโดยไร้อุปสรรคในทุกแง่มุม
ภัทร - ณภัทร ไตรพันธุ์: ชีวิตที่กำหนดจังหวะเองได้ตามสไตล์ Working woman
สำหรับการทำงานในตำแหน่งที่อาศัยทั้งทักษะและความชำนาญในการตัดสินใจ คิดวิเคราะห์ และทำงานกับข้อมูลทางการเงินตลอดเวลา ทำให้หลายคนอาจมีความคิดว่างานในลักษณะนี้อาจเหมาะสมกับผู้ชายมากกว่า แต่ไม่ใช่กับ “ภัทร - ณภัทร ไตรพันธุ์” Financial Crime Detection หรือฝ่ายสอบสวนธุรกรรมแห่งธนาคารซิตี้แบงก์ ผู้เป็นด่านหน้าของธนาคารซิตี้แบงก์ในการตรวจจับและรายงานธุรกรรมน่าสงสัยอันอาจนำมาสู่การฟอกเงิน หรือการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบอื่น ๆ โดยเธอมองว่าเพศไม่ใช่สิ่งที่กำหนดความสามารถในการทำงานแต่อย่างใด โดยเธอบอกเล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจนี้ว่า
“ในอดีตหลายคนอาจมีมุมมองความคิดว่าคนที่ทำงานในสายการเงิน-การธนาคารส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้ชาย ด้วยเนื้องานที่ต้องการความรวดเร็วและความเด็ดขาดในการตัดสินใจ แต่ในปัจจุบันมีจำนวนผู้หญิงที่มีความชื่นชอบในสายการเงิน-การธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างที่ธนาคารซิตี้แบงก์เองก็มีสัดส่วนพนักงานหญิงไม่น้อยไปกว่าพนักงานชาย และอีกหนึ่งสถิติที่น่าสนใจคือ Trader อาชีพสายการเงินที่มีสัดส่วนพนักงานชายเป็นส่วนใหญ่ กลับมีจำนวนพนักงานหญิงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายปีหลังมานี้ จึงมองว่าเพศไม่ใช่สิ่งที่กำหนดความถนัดหรือความสนใจในการทำงานแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับความสามารถ ซึ่งเห็นได้ว่าปัจจุบันมีผู้หญิงจำนวนมากที่มีความสามารถและมีทักษะที่พร้อมตัดสินใจอย่างฉับไวได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชาย ขณะเดียวกันก็มีผู้ชายไม่น้อยที่มีความละเอียดรอบคอบไม่แพ้ผู้หญิง”
ณภัทร ยังได้เล่าต่อไปถึงสาเหตุที่ตัดสินใจทำงานที่ธนาคารซิตี้แบงก์ยาวนานกว่า 8 ปี ว่า “ซิตี้แบงก์เป็นธนาคารที่มีสังคมในการทำงานเป็นสากลสูงมาก รองรับความหลากหลายของพนักงานทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ ซึ่งตรงกับค่านิยมในการทำงานของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่องค์กรได้นำแนวคิดความเสมอภาค (Equity) มาสนับสนุนพนักงานแต่ละคนให้สามารถแสดงศักยภาพในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างเต็มที่ อย่างเร็ว ๆ นี้ได้มีการจัดอบรมให้พนักงานได้พัฒนาทักษะความรู้ตามความสนใจของตัวเอง รวมไปถึงโปรแกรมการให้คำปรึกษา ที่เปิดกว้างให้พนักงานสามารถขอคำแนะนำการทำงานได้กับผู้จัดการในแผนกอื่น ๆ ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ในหลากหลายด้าน เป็นสังคมการทำงานที่ดีต่อใจ และทำให้รู้สึกว่าพนักงานทุกคนที่นี่เสมอภาคกันจริง ๆ”
และอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การใช้ชีวิตแบบ Working woman ของณภัทรมีสีสันและเต็มที่ได้กับทุกประสบการณ์ชีวิต คือการที่ธนาคารซิตี้แบงก์สนับสนุนให้พนักงานได้มี Work-life balance โดยเน้นที่ผลลัพธ์ของงานมากกว่าการเข้มงวดกับจำนวนชั่วโมงในการทำงาน เพื่อให้พนักงานแต่ละคนได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ต้องการ ทั้งยังมีบริการสายด่วนสุขภาพจิตประจำออฟฟิศ เพื่อดูแลความสุขทางใจให้พนักงานที่ต้องเผชิญความกดดันในการทำงาน และส่งเสริมให้พนักงานทุกคนสามารถเติบโตด้านการทำงานด้วยการสนับสนุนจากซิตี้แบงก์
โดยสองสาวยังทิ้งท้ายในทิศทางเดียวกันว่า “นอกจากสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของพนักงานซิตี้แบงก์ยังเปิดกว้างทางโอกาสในสายอาชีพที่หลากหลายด้วยบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ไม่เคยหยุดนิ่ง หากคุณเป็นคนที่มีศักยภาพและกำลังมองหาความท้าทาย หรือโอกาสในการร่วมงานกับธนาคารสถาบันชั้นนำระดับโลก ซิตี้แบงก์ คือคำตอบ”
ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง สนับสนุนความแตกต่างและเสริมสร้างความเสมอภาคในที่ทำงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าเหตุใดธนาคารซิตี้แบงก์จึงไม่เคยขาดพนักงานที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถในหลากหลายเจเนอเรชัน ซึ่งสำหรับใครก็ตามที่มีความสนใจในอาชีพสายการเงิน-การธนาคาร และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการทำงานที่มีความเสมอภาค ธนาคารซิตี้แบงก์ เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ตอบโจทย์ และพร้อมต้อนรับทุกคนที่มีความสามารถให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเงินระดับโลกแห่งนี้