Think In Truth

'ก้าวไกล-เพื่อไทย'ถกแบ่งเก้าอี้ใกล้ลงตัว 'วันนอร์'ไม่รับปธ.สภารอลุ้นใน30พ.ค.นี้



กรุงเทพฯ-ก้าวไกล-เพื่อไทย แบ่งเก้าอี้รมต.เกือบลงตัวแล้ว โดยก้าวไกลรับผิดชอบกระทรวงความมั่นคง ส่วนเพื่อไทยดูกระทรวงเศรษฐกิจ 'วันนอร์' ไม่ขอรับตำแหน่งประธานสภาฯเผยนัดถกพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล8พรรค 30 พ.ค.นี้คงชัดเจนอีกระดับ ท่ามกลางความขัดแย้งสองพรรคใหญ่ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL)ชี้ปชช.เบื่อหน่ายการเมืองหลังเลือกตั้ง เหตุพรรคร่วมแย่งชิงตำแหน่ง

สำหรับการเจรจาของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลครั้งต่อไปในวันที่ 30 พ.ค. ที่พรรคประชาชาติ (ปช.) นั้น ในส่วนของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) จะหารือนอกรอบกันก่อน ผ่านทีมเจรจาของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ยังเป็นปัญหาไม่ลงตัว

พรรคพท.ยังคงยืนยันว่า พรรคพท.ต้องได้ตำแหน่งประธานสภาฯ เนื่องจากพรรคก.ก.ได้ตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายบริหารแล้ว ส่วนกระแสจะให้คนกลาง อย่างนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคปช. มาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ แทน เพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงตัวระหว่างสองพรรคนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ แสงความประสงค์ว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งประธานสภาฯ หากทั้งสองพรรคยังคงเห็นขัดแย้งในเรื่องนี้

พรรคก.ก.จะได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 + 1 คือรวมตำแหน่งนายกฯ ของหัวหน้าพรรคก.ก.ด้วย ขณะที่พรรคพท.จะได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 + 1 เช่นกัน คือ ต้องรวมตำแหน่งประธานสภาฯ ของหัวหน้าพรรคพท. จึงจะเป็นการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยความเหมาะสม เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโควตากระทรวง รวมถึงสูตรการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ยังสามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้ ขึ้นกับการตกลงกันของทั้งสองพรรค

ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวเรื่องการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน แลกกับตำแหน่งประธานสภาว่า โผคณะรัฐมนตรีที่ออกมาตอนนี้ เป็นเพียงการวิเคราะห์กัน แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีการเจรจากันแบบนั่งโต๊ะพูดคุยกันเรื่องนี้เลย และในพรรคก็ยังไม่ได้พูดคุยกันด้วย เพราะพรรคมีคณะเจรจาอยู่ จึงได้มอบหมายภารกิจไป และอะไรที่จะเป็นข้อตัดสินใจในนามพรรค ก็จะมาปรึกษาหารือกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุย ส่วนกำหนดการร่วมหารือกับพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันอังคารที่ 30 พ.ค.นี้ ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้นัดหมาย ตนยังไม่ทราบว่าจะพูดคุยกันเรื่องใดบ้าง เพราะพรรคแกนนำนัดหมายวันและเวลา แต่ยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดการหารือ และคิดว่าคงจะเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ

ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) เผยถึงการนัดประชุมพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคการเมืองในวันที่ 30 พฤษภาคม เพื่อพูดคุยแนวทางและแผนงานการทำงานร่วมกัน โดยพรรค ปช.จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมว่า เป็นการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคการเมือง ที่จะสลับกันเป็นเจ้าภาพในการใช้สถานที่ โดยประธานที่ประชุมจะเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล(ก.ก.) และมีเลขาพรรคก.ก.ทำหน้าที่เลขาที่ประชุม สำหรับปัญหาเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นเรื่องที่คณะทำงานต้องพูดคุยกันและคงจบแบบได้

ปชช.เบื่อหน่ายการเมืองหลังเลือกตั้ง เหตุพรรคร่วมแย่งชิงตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง ก้าวไกล กับ ราษฎร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,035 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-28 พฤษภาคม พ.ศ.2566

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.2 เบื่อหน่ายการเมือง จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เพราะมีแต่แย่งชิงตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ ละเลยความเดือดร้อนของราษฎร การแพร่ระบาดของโควิด และปัญหาปากท้อง เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 14.8 ไม่เบื่อ เพราะ น่าสนใจติดตาม ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคอะไรจะได้เป็นรัฐบาลบ้าง พิธา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 รู้สึกผิดหวังต่อจุดยืนของพรรคก้าวไกล ที่เคยหาเสียงไว้ เช่น พอได้เป็นแล้วเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ค่าแรง 450 ไม่ชัดเจน กฎหมาย 112 การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และอื่น ๆ เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 29.5 ไม่ผิดหวัง เพราะ เพิ่งรวมตัวกันต้องให้เวลาก่อน ค่อยเป็นค่อยไป หนักแน่นในก้าวไกล เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความเห็นต่อการถอนตัวของพรรคเพื่อไทย จากความขัดแย้งต่าง ๆ ในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังพยายามจัดตั้งโดยพรรคก้าวไกล พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 44.9 ระบุ แล้วแต่เลย ถอนก็ได้ ไม่ถอนก็ได้ ในขณะที่ ร้อยละ 32.8 ระบุควรอยู่ต่อ และร้อยละ 22.3 ระบุควรถอนตัว ตามลำดับ

รายงานซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบด้วยว่า ความรู้สึกของราษฎรเริ่มเบื่อหน่ายต่อการเมืองจัดตั้งรัฐบาลที่มองข้ามปัญหาเดือดร้อนของประชาชนผู้เป็นราษฎรประสบปัญหามากมายในเวลานี้ทั้งปัญหาการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด ปัญหาปากท้อง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งของคนในชาติที่เริ่มก่อตัวปะทุขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องการให้เวลาพรรคก้าวไกลอีกระยะหนึ่งในความพยายามจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ แต่หากมีความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลประชาชนจำนวนมากระบุแล้วแต่เลยว่าพรรคเพื่อไทยจะถอนตัวหรือไม่ถอนตัวก็ได้ และยังให้ความเห็นว่าอย่าลืมความคาดหวังของประชาชน บ้างก็ว่า อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไป บ้างก็สรุปความเห็นให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหาเดือดร้อนเพื่อความสุขของประชาช